หมวด ๑
อุดมการณ์ของผู้พิพากษา
ข้อ ๑ หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มี
อรรถคดีซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย
และนิติประเพณีทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติ
เช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระ
ของตนและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ
หมวด ๒
จริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางอรรถคดี
ข้อ ๒ ผู้พิพากษาพึงตรวจสำนวนความและตระเตรียมการดำเนินกระบวนพิจารณา
ไว้ให้พร้อม ออกนั่งพิจารณาตรงตามเวลาและไม่เลื่อนการพิจารณา
โดยไม่จำเป็น
ข้อ ๓ ในการนั่งพิจารณาคดี ผู้พิพากษาจักต้องวางตนเป็นกลางและปราศจากอคติทั้งพึง
สำรวมตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ แต่งกายเรียบร้อย ใช้วาจาสุภาพ ฟังความจากคู่ความ
และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างตั้งใจ ให้ความเสมอภาค และมีเมตตาธรรม
ข้อ ๔ ผู้พิพากษาจักต้องพิจารณาคดีโดยไตร่ตรอง สุขุม รอบคอบ และไม่ชักช้า
พึงตัดการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
ข้อ ๕ ผู้พิพากษาจักต้องควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ทั้งจักต้องมิให้ผู้ใดประพฤติตนไม่สมควรในศาลบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาล
พึงใช้ด้วยความระมัดระวังและไม่ลุแก่โทสะ
ข้อ ๖ ผู้พิพากษาจักต้องละเว้นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคดีที่อาจกระทบกระเทือนต่อบุคคลใด
ไม่วิจารณ์หรือให้ความเห็นแก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือ กำลังจะขึ้นสู่ศาล
แต่ผู้พิพากษาผู้มีอำนาจอาจแถลงให้ประชาชนเข้าใจถึงวิธีพิจารณาความของศาลเมื่อมีเหตุผลสมควร
ข้อ ๗ การถ่ายภาพ ภาพยนตร์ บันทึกภาพหรือเสียง หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน
ในการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่ผู้พิพากษาตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค
และอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขึ้นไปเป็นผู้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง แต่พึงระมัดระวังมิให้เป็นที่
เสื่อมเสียหรือกระทบกระเทือนต่อการพิจารณาคดี คู่ความ พยานหรือบุคคลอื่นใด
ข้อ ๘ การเปรียบเทียบหรือไกล่เกลี่ยคดีจักต้องกระทำในศาล ผู้พิพากษาพึงชี้แจงให้คู่ความทุกฝ่ายตระหนักถึง
ผลดีผลเสียในการดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ จักต้องไม่ให้คำมั่นหรือบีบบังคับให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย
ยอมรับข้อเสนอใด ๆ หรือให้จำเลยรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ และจักต้องไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระแวง
ว่าผู้พิพากษาฝักใฝ่ช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง
ข้อ ๙ ผู้พิพากษาพึงระลึกว่าการนำพยานหลักฐานเข้าสืบและการซักถามพยานควรเป็นหน้าที่ของคู่ความและ
ทนายความของแต่ละฝ่ายที่จะกระทำ ผู้พิพากษาพึงเรียกพยานหลักฐานหรือซักถามพยานด้วยตนเองก็ต่อเมื่อจำเป็น
เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมหรือมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ศาลเป็นผู้กระทำเอง
ข้อ ๑๐ การบันทึกคำเบิกความ ผู้พิพากษาจักต้องบันทึกเฉพาะข้อความในประเด็นข้อพิพาท หรือเกี่ยวเนื่องกับ
ประเด็นข้อพิพาท และต้องได้สาระถูกต้องครบถ้วนตามคำเบิกความ
การบันทึกคำแถลงและรายงานกระบวนพิจารณา จักต้องให้ได้ความชัดแจ้งและตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
ข้อ ๑๑ ในการปรึกษาคดี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจักต้องตระเตรียมคดีนั้น
ล่วงหน้าอย่างถี่ถ้วน และจักต้องชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อองค์คณะอย่างถูกต้องครบถ้วน
ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะจักต้องร่วมพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและเหตุผลประกอบเสมือนหนึ่งตนเป็น
เจ้าของสำนวนคดีเรื่องนั้นเอง ผู้พิพากษาที่ร่วมกันพิจารณาคดีพึงเคารพในความคิดเห็นและเหตุผลของกันและกัน
ทั้งนี้เพื่อให้ได้คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ถูกต้องและเที่ยงธรรม
ข้อ ๑๒ เมื่อจะพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีเรื่องใด ผู้พิพากษาจักต้องละวางอคติทั้งปวงเกี่ยวกับคู่ความหรือ
คดีความเรื่องนั้น ทั้งจักต้องวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า และไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด
คำพิพากษาและคำสั่ง จักต้องมีคำวินิจฉัยที่ตรงตามประเด็นแห่งคดี ให้เหตุผลแจ้งชัดและสามารถ
ปฏิบัติตามนั้นได้ การเรียงคำพิพากษาและคำสั่งพึงใช้ภาษาเขียนที่ดี ใช้ถ้อยคำในกฎหมายใช้โวหารที่รัดกุมเข้าใจง่าย
และถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานข้อความอื่นใดอันไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยประเด็น
แห่งคดีโดยตรง
หรือไม่ทำให้การวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวชัดแจ้งขึ้นไม่พึงปรากฏอยู่ในคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ข้อ ๑๓ ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้พิพากษาจักต้องควบคุมให้
การออกหมาย หรือคำบังคับ ตรงตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และจักต้องออกโดยพลัน
ข้อ ๑๔ ผู้พิพากษาพึงถอนตัวจากการพิจารณาและพิพากษาคดี เมื่อมีเหตุที่ตนอาจถูกคัดค้านได้ตามกฎหมาย
หรือเมื่อมีเหตุประการอื่นที่เกี่ยวกับตัวผู้พิพากษา อันอาจทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเสียความยุติธรรม
และจักต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการจูงใจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นในภายหลังในประการที่อาจ
ทำให้เสียความยุติธรรมได้
หมวด ๓
จริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางธุรการ
ข้อ ๑๕ เพื่อให้งานธุรการของศาลมีประสิทธิภาพ ผู้พิพากษาจักต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
และอย่างเต็มความสามารถ ทั้งจักต้องควบคุมให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
และอย่างเต็มความสามารถเช่นเดียวกัน
ข้อ ๑๖ ผู้พิพากษาจักต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา
และตามลำดับชั้นของการบังคับบัญชา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ข้ามลำดับชั้นได้
ข้อ ๑๗ ผู้พิพากษาจักต้องปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาด้วยความเที่ยงธรรม และ
ควบคุมให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามวินัยและจริยธรรมโดยเคร่งครัด
การรายงานความดีความชอบของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจักต้องตรงตามความเป็นจริงและการให้ความเห็น
เกี่ยวกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจักต้องปราศจากอคติ
ข้อ ๑๘ ผู้พิพากษาพึงสนับสนุนส่งเสริมผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่ซื่อสัตย์สุจริต
มีผลงานดีเด่น มีความรู้ความสามารถ และขยันขันแข็ง ทั้งจักต้องให้ความช่วยเหลือแก่
ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบ
ข้อ ๑๙ เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดทางวินัยของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาขึ้น
ผู้พิพากษาจักต้องรายงานผู้บังคับบัญชาทันทีโดยรายงานตามความเป็นจริง ทั้งจักต้อง
ไม่ปกปิดเรื่องใด ๆ ที่ควรรายงาน
กรณีตามวรรคหนึ่ง หากเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน ผู้พิพากษาจักต้องดำเนินการ
ไปตามอำนาจหน้าที่นั้นโดยพลันในกรณีที่ปรากฏว่ามีการละเมิดจริยธรรมในข้อสำคัญอันควรรายงาน
ผู้พิพากษาพึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
ข้อ ๒๐ ผู้พิพากษาพึงเอาใจใส่ดูแล และอนุเคราะห์ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาตามควรแก่กรณี
ข้อ ๒๑ ผู้พิพากษาพึงส่งเสริมความสามัคคีในระหว่างผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและในหมู่ข้าราชการ
ข้อ ๒๒ ผู้พิพากษาพึงเปิดโอกาสให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการ
ปฏิบัติหน้าที่ราชการ และรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวที่ชอบด้วยเหตุผล
ข้อ ๒๓ ผู้พิพากษาจักต้องสอดส่องดูแลให้คู่ความ ทนายความ พยาน และ
ประชาชนที่มาศาลได้รับความเป็นธรรม ความสะดวกและการปฏิบัติอย่างมีอัธยาศัย
ข้อ ๒๔ ผู้พิพากษาจักต้องเอาใจใส่ดูแลศาลและบริเวณศาลให้มีศรีสง่า สมกับเป็น
สถานที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม ควบคุมดูแลทรัพย์สินทั้งหลายของทางราชการ
ไว้เพื่อใช้ในราชการ ทั้งจักต้องถนอมรักษาทรัพย์สินดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้
ตลอดเวลา
ข้อ ๒๕ ผู้พิพากษาจักต้องรักษาความลับของทางราชการมิให้รั่วไหล
และจักต้องไม่เปิดเผยความลับแก่บุคคลใดซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตาม
กฎหมายที่จะล่วงรู้ความลับนั้น
หมวด ๔
จริยธรรมเกี่ยวกับกิจการอื่น
ข้อ ๒๖ ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดในห้างหุ้นส่วน
บริษัท ห้างร้านหรือธุรกิจของเอกชน เว้นแต่จะเป็นกิจการที่มิได้แสวงหากำไร
ผู้พิพากษาจักต้องไม่ประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใด อันจะกระทบกระเทือน
ต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา
ข้อ ๒๗ ในกรณีจำเป็นผู้พิพากษาอาจได้รับมอบหมายหรือแต่งตั้งจากหน่วยราชการหรือหน่วยงานอื่น
ของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวกับหน่วยราชการ หรือหน่วยงานนั้นได้ในเมื่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
ไม่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ทั้งจักต้องได้รับอนุญาตจาก
สำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว เว้นแต่จะมีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือมติของ ก.ต.ระบุไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๒๘ ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือเข้าร่วมสัมมนา
อภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือ
เกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา และจักต้องไม่กระทำการดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ
การให้ข่าวหรือข้อเท็จจริงในทางราชการของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
กับทางราชการของศาลยุติธรรมหรือสำนักงานศาลยุติธรรม จะกระทำ ได้ต่อเมื่อเป็นผู้รับผิดชอบในการให้ข่าว
หรือข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือสำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด
ข้อ ๒๙ ผู้พิพากษาไม่พึงเป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม สโมสรชมรม หรือองค์การใดๆ หรือเข้าร่วมในกิจการใดๆ อันจะกระทบ
กระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา
ข้อ ๓๐ ผู้พิพากษาไม่พึงรับเป็นผู้จัดการมรดก ผู้จัดการทรัพย์สิน หรือผู้ปกครองทรัพย์ เว้นแต่เป็นกรณีที่ตัวผู้พิพากษาเอง
คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของตน หรือญาติสืบสายโลหิต หรือเกี่ยวพันทางแต่งงาน
ซึ่งผู้พิพากษาถือเป็นญาติสนิทมีส่วนได้เสียในมรดก หรือทรัพย์นั้นโดยตรง
ข้อ ๓๑ ผู้พิพากษาจักต้องไม่รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีหรือรับเป็น
ผู้เรียง ผู้เขียน ผู้พิมพ์คำคู่ความ คำร้อง คำขอ หรือคำแถลงในคดีใดๆ
ผู้พิพากษาจักต้องไม่รับปรึกษาคดีความ หรือเรื่องซึ่งอาจจะเป็นคดีความขึ้นได้ และไม่รับเป็นผู้ร่าง ผู้เขียน ผู้พิมพ์
หรือพยานในพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นใด ไม่ว่าเพื่อสินจ้างรางวัลหรือไม่ เว้นแต่เป็นกรณีที่ตัวผู้พิพากษาเอง คู่สมรส
ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของตน หรือญาติสืบสายโลหิตหรือเกี่ยวพันทางแต่งงาน ซึ่งผู้พิพากษาถือเป็นญาติสนิท
มีส่วนได้เสียในคดีหรือเรื่องนั้นโดยตรง
ข้อ ๓๒ ผู้พิพากษาไม่พึงรับเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือผู้ประนอมข้อพิพาท
ข้อ ๓๓ ผู้พิพากษาจักต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยตาม
รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ
ข้อ ๓๔ ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ สมาชิก หรือ เจ้าหน้าที่ในพรรค
การเมืองหรือกลุ่มการเมือง และจักต้องไม่เข้าเป็นตัวกระทำการ ร่วมกระทำการ
สนับสนุนในการโฆษณาหรือชักชวนใดๆ ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาหรือผู้แทนทางการเมืองอื่นใด
ทั้งไม่พึงกระทำการใดๆ อันเป็นการฝักฝ่ายพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดนอกจากการใช้สิทธิเลือกตั้ง
ข้อ ๓๔/๑ ผู้พิพากษาจักต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือ
เกียรติศักดิ์ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม
คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะอนุกรรมการบริหารศาลยุติธรรม คณะกรรมการสอบสวน
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่รายงานความดีความชอบ
ตลอดจนอนุกรรมการหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่จากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมหรือการปฏิบัติหน้าที่ราชการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย ในประการที่อาจ
ทำให้ขาดความเป็นอิสระ หรือเสียความยุติธรรมได้
หมวด ๕
จริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตนและครอบครัว
ข้อ ๓๕ ผู้พิพากษาจักต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อยู่ใน
กรอบของศีลธรรม และพึงมีความสันโดษ ครองตนอย่างเรียบง่าย สุภาพ สำรวมกิริยามารยาท
มีอัธยาศัย ยึดถือจริยธรรมและประเพณีอันดีงามของตุลาการ ทั้งพึงวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไป
ข้อ ๓๕/๑ ผู้พิพากษาไม่พึงร้องเรียน กล่าวหา ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด
โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ทั้งไม่พึงใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
การร้องเรียน กล่าวหา ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยอาศัยประโยชน์จาก
ตำแหน่งหน้าที่ของตนจะกระทำมิได้
ข้อ ๓๖ ผู้พิพากษาพึงปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นเป็นลำดับและพึงขวนขวายศึกษา
เพิ่มเติมทั้งในวิชาชีพตุลาการและความรู้รอบตัว
ข้อ ๓๗ ผู้พิพากษาจักต้องไม่ก้าวก่ายแทรกแซงหรือแสวงหาประโยชน์โดย
มิชอบจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอื่นหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อ
การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดี
ข้อ ๓๘ ผู้พิพากษาจักต้องไม่ยินยอมให้บุคคลในครอบครัวก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตน หรือของผู้อื่น
และจักต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ
ข้อ ๓๙ ผู้พิพากษาพึงยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจักต้องไม่แสวงหาตำแหน่ง
ความดีความชอบ หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบจากผู้บังคับบัญชา หรือจากบุคคลอื่นใด
ข้อ ๓๙/๑ ผู้พิพากษาไม่พึงขอรับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก
ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลยุติธรรม เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการ
ตามระเบียบ คำสั่ง หรือมติว่าด้วยการนั้น
ข้อ ๔๐ ผู้พิพากษาจักต้องระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพ อาชีพ หรือการงานอื่นใดของคู่สมรส ญาติสนิท
หรือบุคคลซึ่งอยู่ในครัวเรือนของตนมีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไปในการประสาทความยุติธรรมของผู้พิพากษา
ข้อ ๔๑ ผู้พิพากษาและคู่สมรสจักต้องไม่รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ จาก
คู่ความหรือจากบุคคลอื่นใดอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา และจักต้องดูแลให้บุคคลในครอบครัวปฏิบัติ
เช่นเดียวกันด้วย
ข้อ ๔๒ ผู้พิพากษาและคู่สมรสจักต้องไม่รับของขวัญของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดอันมีมูลค่าเกินกว่าที่พึงให้กัน
ตามอัธยาศัยและประเพณีในสังคม และจักต้องดูแลให้บุคคลในครอบครัวปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย
ข้อ ๔๓ ผู้พิพากษาจักต้องละเว้นการคบหาสมาคมกับคู่ความ หรือบุคคลอื่น ซึ่งมีส่วนได้เสีย หรือผลประโยชน์เกี่ยวข้อง
กับคดีความ หรือบุคคลซึ่งมีความประพฤติ หรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจจะกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือ
ศรัทธาของบุคคลทั่วไปในการประสาทความยุติธรรมของผู้พิพากษา
หมวด ๖
จริยธรรมของผู้ช่วยผู้พิพากษา
ดะโต๊ะยุติธรรม และผู้พิพากษาสมทบ
ข้อ ๔๔ ให้นำประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการนี้ มาใช้บังคับแก่ผู้ช่วย
ผู้พิพากษา ดะโต๊ะยุติธรรม และผู้พิพากษาสมทบด้วยโดยอนุโลม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น