วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

เอกสารประกอบการสัมมนาจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย




เอกสารประกอบการสัมมนา

  จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย


ณ สำนักงาน ป.ป.ช.
27 เมษายน 2555


โดย  ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา  มหาคุณ และคณะ


ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


                                                                            



รายงานสรุปผลการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา
การให้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและรายงานสรุปการประมวลผลจากแบบสอบถาม

·       ส่วนที่ 1  รายงานสรุปผลการระดมความคิดเห็นในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ  
         วันที่ 20 กรกฎาคม 2554
   

จากการระดมความคิดเห็นในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการวิจัย จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย ที่จัดขึ้น ณ สำนักงาน ป.ป.ช.สนามบินน้ำ วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ผู้แทนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น กรรมการ ป.ป.ช. สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนจากหอการค้าไทย สภาทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมธนาคารไทย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานศาลปกครอง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนติบัณฑิตยสภา สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น

สรุปผลการสัมมนาระดมความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

1.เรื่องการปลูกฝังจริยธรรม

ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า ควรมีการเริ่มต้นปลูกฝังจริยธรรมตั้งแต่ยังวัยเยาว์ โดยเริ่มตั้งแต่การอบรมสั่งสอนในครอบครัว สถานศึกษา สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิชาชีพ เพื่อให้เกิดจิตสำนึกตั้งแต่แรกเริ่ม

ผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ควรแบ่งจริยธรรมออกเป็นสองระดับคือจริยธรรมทั่วไป กับจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การอบรมสั่งสอนแต่ดั้งเดิมของไทย ที่แฝงความหมายและคำพูดในคำพังเพยหรือคำอวยพรต่าง ๆ เช่น “ มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่ ” หรือคำว่า “ กิ๊ก ” หรือคำอวยพรในเทศกาลปีใหม่ที่ว่า “ ขอให้รวย ” นั้น สิ่งเหล่านี้มีส่วนในการสนับสนุนแนวคิดการบริโภคนิยม และการให้ความสำคัญกับทรัพย์สินเงินทอง

ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจะต้องมีจริยธรรมสูงกว่าบุคคลโดยทั่วไป และมีข้อสังเกตว่า ในการปลูกฝังเยาวชนในอดีตแตกต่างจากปัจจุบัน กล่าวคือ ในอดีต การปลูกฝังเยาวชนจะสอนให้รู้จักหน้าที่ สอนเรื่องสมบัติผู้ดี หน้าที่พลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันการเรียนการสอน สมัยนี้ มีการสอนเรื่องสิทธิเด็ก สิทธิสตรี แต่การสอนเรื่องหน้าที่ขาดหายไป ทำให้เยาวชนขาดความรู้ความเข้าใจในหน้าที่

สำหรับการเรียนการสอนนักศึกษากฎหมายนั้น ผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งตั้งคำถามว่าผู้ที่สอบไล่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นตัวอย่างด้านจริยธรรมได้มากหรือน้อยเพียงใด บางสถาบันอุดมศึกษามีการนำนิสิตไปศึกษาชีวิตนอกห้องเรียน เช่น การฝึกให้นิสิตเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านว่ามีปัญหากฎหมายหรือไม่ อย่างไร และจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าความรู้ด้านวิชาการเพียงประการเดียว

ผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า การอบรมสั่งสอน การอ่าน การท่องจำ การสร้างคู่มือ หรือการให้ความรู้ ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลนั้นมีจริยธรรมวิชาชีพ แต่ควรหาวิธีการที่จะทำให้การปลูกฝังจริยธรรมเกิดการสร้างให้เกิดขึ้นจริงในตัวบุคคล และควรปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของทัศนคติ

ผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า จริยธรรมและศีลธรรม เป็นเรื่องของหลักความประพฤติที่ดีงาม และมีความเชื่อมโยงกัน ในประเทศไทยทั้งสองเรื่องมีความใกล้เคียงกันมาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะนำมาจากหลักทางพระพุทธศาสนา และส่วนหนึ่งมาจากขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยสมัยโบราณ

2.เรื่ององค์กรที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลจริยธรรมวิชาชีพ

ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะ แยกออกเป็นสองความเห็น
สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้คือ

ความเห็นที่หนึ่ง เห็นว่า ควรมีองค์กรกลางทำหน้าที่ในการกำกับดูแลจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย และควรมีการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ

ความเห็นที่สอง เห็นว่า ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพเฉพาะของผู้ประกอบวิชาชีพนั้น ในปัจจุบันนี้เหมาะสมแล้ว โดยได้มีการยกตัวอย่างประวัติศาสตร์การแยกตัวขององค์กรวิชาชีพที่                     ผ่านมาเพื่อสนับสนุนแนวความคิดนี้

3.เรื่องเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหา

ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความเห็นว่า ควรเพิ่มเติมสาเหตุปัญหาในเรื่อง

3.1 ความมุ่งมั่นในการทำคดี ความสนใจในการศึกษาข้อมูลของกระบวนการยุติธรรม

เพราะจากที่ปัญหาที่พบ เห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ทำคดีมีความละเอียดในการทำงานแตกต่างกันส่งผลต่อการให้เหตุผลในคำวินิจฉัยหรือคำตัดสินคดีที่แตกต่างกัน

3.2 ความล่าช้าในการตัดสินคดี ดังคำกล่าวที่ว่า “ ความยุติธรรมที่ล่าช้า

คือการไม่ได้รับความยุติธรรม ” อันส่งผลกระทบต่อทั้งโจทก์และจำเลยในคดี

3.3 ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ค่อนข้างสูง ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึง

กระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน

3.4 ปัญหาอันเกิดจากความรู้สึกของผู้ฟ้องคดีที่มักจะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องจากระบบการพิจารณาคดีปกครอง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากกระบวนการพิจารณาคดีปกครองมีความซับซ้อน และศาลปกครองจะใช้ระบบไต่สวน และเป็นผู้ทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งแตกต่างจากศาลยุติธรรมซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ดังนั้น ในการแสวงหาพยานหลักฐานในคดี บางครั้งหลักฐานที่ได้อาจจะเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้ถูกฟ้องด้วยก็ได้ หากเป็นกรณีนี้ คู่กรณีที่ไม่เข้าใจกระบวนการพิจารณาของศาล ก็อาจจะมองว่าศาลไม่วางตัวเป็นกลาง และในการชั่งน้ำหนักพยาน จะเป็นการพิจารณาระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์สาธารณะ และบางครั้งไม่ใช่เรื่องการชี้ถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องที่เห็นว่าเรื่องนี้ควรจะเป็นอย่างไร

3.5 ปัญหาเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ตัดสินคดี การขาดความใฝ่รู้และการไม่พัฒนาตนเองหรือขาดการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป หรือความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่พบมากในขณะนี้คือเรื่องของความรู้ความชำนาญในกฎหมายเฉพาะทาง ซึ่งส่งผลให้การตัดสินคดีอาจขาดความเป็นธรรม และปัญหาเรื่องคุณภาพของคำวินิจฉัย

4. เรื่องเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ

ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า โดยส่วนใหญ่ทนายความมีความรู้เกี่ยวกับมารยาททนายความ ส่วนการกระทำความผิดนั้น จากประสบการณ์ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีมารยาททนายความพบว่าเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา และการลงโทษจะแบ่งตามระดับการลงโทษ ส่วนสถิติการร้องเรียนทนายความที่กระทำผิดมีแนวโน้มที่สูงขึ้นและสถิติที่แสดงอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากอาจจะมีจำนวนมากกว่าที่ปรากฏ เพราะมีบางกรณีที่มีคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา และนอกจากนี้ยังพบว่าคดีความผิดที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นไปตามจำนวนทนายความที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีประกอบกันด้วย

สำหรับข้อสังเกตของการรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับความล่าช้าในการพิจารณาคดีมารยาททนายความนั้น สาเหตุเนื่องมาจากการที่ทนายความเป็นผู้มีความรู้ในการต่อสู้คดีความ จึงรู้วิธีการต่อสู้คดี จึงทำให้การพิจารณาคดีของคณะกรรมการเป็นไปด้วยความล่าช้า

ผู้เข้าร่วมสัมมนาให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กำลังมีการดำเนินการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยทนายความ โดยมีการเสนอให้ตัดสัดส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกไป เพราะเห็นว่าเป็นนักการเมือง และคดีที่สภาทนายความฟ้องร้องก็มักจะมีการฟ้องรัฐมนตรีรวมเข้าไปด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น แต่ก็มีแนวความคิดว่าหากตัดสัดส่วนรัฐมนตรีออกไป ก็ควรมีการเสนอให้มีการเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิจากตัวแทนบุคคลภายนอกมาทำหน้าที่ในการคานอำนาจแทน รัฐมนตรีบางท่านเองก็เห็นด้วยที่จะตัดตำแหน่งนี้ไป เนื่องจากมักถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งในคดีอาญาและคดีปกครองร่วมกับสภาทนายความด้วย ส่วนนิยามของคำว่าทนายความนั้นอาจจะให้หมายความรวมถึงที่ปรึกษากฎหมายด้วย

ในการฟ้องร้องคดีมารยาททนายความ ศาลปกครองเคยมีคำวินิจฉัยว่า กรรมการมารยาททนายความมิใช่ผู้ออกคำสั่งทางปกครอง แต่เป็นคณะกรรมการที่อยู่ในชั้นเสนอความเห็นประกอบการพิจารณา ส่วน ผู้ที่ทำหน้าที่ทำคำสั่งทางปกครองคือกรรมการบริหารของสภาทนายความ

สำหรับเรื่องการคิดค่าจ้างทนายความ ผู้เข้าร่วมสัมมนาให้ความเห็นว่า แต่เดิมประเทศไทยรับเอาธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการคิดค่าทนายความจากประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้ซึ่งแต่เดิมเคยมีแนวบรรทัดฐานของศาลว่า ห้ามคิดค่าจ้างว่าความเป็นเปอร์เซ็นต์จากลูกความนั้น ปัจจุบันแนวบรรทัดฐานดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วตามสภาพเศรษฐกิจ ในประเทศอังกฤษเองก็ได้มีการลดความเข้มงวดในแนวบรรทัดฐานที่เคยวางไว้แต่เดิมแล้วแต่ควรมีการตรวจสอบแนวบรรทัดฐานในเรื่องนี้ที่ชัดเจนต่อไป

ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากสภาทนายความให้ความเห็นว่า เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ผู้ที่จะมาสอบใบอนุญาตทนายความควรจบการศึกษาจากเนติบัณฑิตยสภาด้วย แต่การอบรมวิชาชีพทนายความนั้นควรเป็นหน้าที่ของสภาทนายความต่อไป

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชน เห็นว่าในขณะนี้สภาทนายความได้รับงบประมาณไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนตามค่าใช้จ่ายจริงที่สภาทนายความให้การช่วยเหลือ

ประชาชน

5 .เรื่องเกี่ยวกับบทบาทของเนติบัณฑิตยสภา

ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า เนติบัณฑิตยสภาควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการรับรองหรือไม่รับรองสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ

ผู้แทนจากเนติบัณฑิตยสภาได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการเรียนการสอนและการศึกษาในปัจจุบันของเนติบัณฑิตยสภา และกล่าวว่า ในการจัดทำกรอบสมาชิกเนติบัณฑิตยสภานั้น ในอดีตเคยมีการประชุมในปี พ.ศ.2549 ว่าจะมีการจัดทำกรอบจริยธรรมขึ้น

สำหรับเรื่องกระบวนการพิจารณากลั่นกรองผู้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภานั้น ในทางปฏิบัติ เมื่อมีผู้ร้องขอเป็นสมาชิก เนติบัณฑิตยสภาจะเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกยื่นคำร้องคัดค้าน หากเห็นว่าผู้สมัครสมาชิกขาดคุณสมบัติความเป็นสมาชิก โดยจะมีการประกาศต่อสาธารณชน ให้ยื่นคัดค้านภายในระยะเวลา 15 วัน และผู้สมัครจะต้องแจ้งให้ทราบว่าเคยกระทำความผิดเรื่องใดมาก่อนหรือไม่

ส่วนการสอบสวนกรณีเห็นว่าสมาชิกอาจจะเข้าข่ายผิดจริยธรรมนั้น มีหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาสามเรื่องหลัก คือ เรื่องความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดศีลธรรม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ

สำหรับเรื่องการลบชื่อผู้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาในกรณีที่มีการกระทำผิดจริยธรรม ปัจจุบันในทางปฏิบัติ หากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา เนติบัณฑิตยสภาจะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพนั้นเป็นผู้สอบสวนก่อนแล้ว หากพบว่ามีความผิด เมื่อสอบสวนและลงโทษแล้ว จึงจะส่งมาให้เนติบัณฑิตยสภาดำเนินการลบชื่อออกจากความเป็นสมาชิก

กรณีมีการอ้างกฎหมายนิรโทษกรรม เนติบัณฑิตยสภาก็นำมาพิจารณาประกอบการรับสมัครสมาชิกด้วย

6.เรื่องอื่น ๆ

ผู้เข้าร่วมสัมมนาบางท่านได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะอื่น ๆ ดังนี้

- ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการขาดการติดตามความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายภายหลังจากที่มีการสอบเข้าเป็นพนักงานอัยการแล้ว

- ควรให้เนติบัณฑิตยสภาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย และทำหน้าที่ในการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับความผิดของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายก่อนจะส่งให้หน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบคดีต่อไป และทำหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องถอดถอนสมาชิกภาพของผู้เป็นสมาชิก เนติบัณฑิตยสภาในกรณีที่พบว่ากระทำผิดจริยธรรมวิชาชีพ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการกำหนดสัดส่วนของผู้แทนของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้เหมาะสม

- ควรมีการให้นิยามศัพท์คำว่าจริยธรรมและจริยธรรมวิชาชีพในงานวิจัยให้ชัดเจนมากขึ้น ว่าไม่เกี่ยวกับคุณธรรมส่วนบุคคล

- ควรมีการเผยแพร่ประมวลจริยธรรมวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ว่าได้ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมวิชาชีพที่กำหนดหรือไม่ เพียงใด

- สาเหตุของจริยธรรมวิชาชีพบางกรณีไม่ชัดเจน ควรมีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

- เรื่องคุณสมบัติของผู้ศึกษากฎหมายและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย เห็นว่า จะต้องมีคุณลักษณะ มีใจรักความยุติธรรม กล้าแสดงออกและกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง

- เรื่องเกี่ยวกับจำนวนสถาบันและการเปิดการศึกษา เห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันมีการเปิดการเรียนการสอนกฎหมายจำนวนมาก และมีการเน้นความสำคัญแตกต่างกัน เช่น บางสถาบันเน้นด้านกฎหมายธุรกิจ บางสถาบันเน้นด้านกฎหมายมหาชน บางสถาบันเน้นกฎหมายพื้นฐาน กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา โดยการมุ่งเน้นเพื่อมุ่งสอบเป็นผู้พิพากษาหรือพนักงานอัยการเนื่องจากมีอัตราค่าตอบแทนสูง ทั้งนี้เนติบัณฑิตยสภาจะเน้นจริยธรรมวิชาชีพในระดับสูงขึ้นมาในส่วนที่มีความสัมพันธ์กับประชาชน

จากนั้น ประธานในที่ประชุมได้กล่าวสรุปตอนท้ายว่า การค้นหาจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายก็คือเรื่องของการสร้างคน ซึ่งต้องอาศัยทั้งการอบรมเพียงประการเดียว คงไม่เพียงพอ เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ทำหน้าที่ในการอบรม และคนที่ทำหน้าที่อบรมมีจริยธรรมเพียงพอหรือไม่ ปัจจุบัน ความเข้าใจในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ยังคงมีความสับสน จำเป็นจะต้องวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ในส่วนของจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สิ่งที่ขาดหายไปคือศูนย์กลางในการควบคุมดูแล และขาดการติดตามตรวจสอบเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอยู่ในกรอบจริยธรรมอย่างเข้มแข็ง การส่งเสริมจริยธรรมในสังคมจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่ระบบความยุติธรรมอย่างยั่งยืนต่อไป



· ส่วนที่ 2 รายงานสรุปผลการให้สัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญ

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถสรุปประเด็นสำคัญและวิเคราะห์ปัญหาได้ดังนี้

1. ปัญหาการขาดการปลูกฝัง ค่านิยม ความรู้ ในการศึกษาเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ/               มีมาตรฐานการเรียนการสอนเกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพที่ต่ำและน้อยเกินไป

จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ด้านระบบการเรียนการ
สอน และมาตรฐานการศึกษาและการฝึกอบรม มุ่งเน้นความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการทางกฎหมายแต่เพียงประการเดียว แต่ขาดการปลูกฝังค่านิยม อุดมการณ์ คุณธรรมและจริยธรรมวิชาชีพที่ถูกต้อง

-ขาดความรู้และความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องระบบคุณธรรมและจิตสำนึกในเรื่อง integrity

-ขาดความต่อเนื่องในการฝึกอบรม หรือมีการอบรม แต่มีการดำเนินการฝึกฝนภาคปฏิบัติน้อย

-ขาดการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านจริยธรรมวิชาชีพ รวมทั้งขาดการฝึกฝนให้เป็นนักคิด นักพัฒนาตั้งแต่ชั้นการเรียนการสอน การศึกษาในระดับอุดมศึกษา จนถึงระดับเนติบัณฑิตยสภา

การผลิตผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย มุ่งผลิตคนเก่งมากกว่าผลิตคนดี และขาดความเชื่อมโยงระหว่างสาขาวิชาชีพกฎหมายเข้ากับผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน

ด้านมาตรฐานการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พบว่ามีปัญหาเรื่องการขาดการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านจริยธรรมวิชาชีพ หรือมีการอบรมจริยธรรมวิชาชีพน้อยเกินไป ครูผู้สอนไม่มีเวลาในการถ่ายทอดจริยธรรมวิชาชีพแก่นักศึกษาเท่าที่ควรและไม่มีโอกาสในการพบปะพูดคุยกับลูกศิษย์หรือมีแต่น้อยเกินไป ซึ่งครูผู้สอนมีบทบาทและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างศรัทธา และชี้นำลูกศิษย์ให้เห็นความสำคัญของอุดมการณ์ในวิชาชีพ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับในการเรียนการสอนจริยธรรมวิชาชีพขาดความเป็นเอกภาพในทาง
ความคิด ส่วนหนึ่งมาจากการที่อาจารย์ผู้สอนจบการศึกษามาจากต่างประเทศซึ่งมีแนวความคิดที่แตกต่างกันทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากอิทธิพลที่ได้รับจากต่างประเทศ

ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุที่ปัจจุบัน มีผู้สนใจเรียนกฎหมายกันมากขึ้น เพราะมีเหตุจูงใจมาจากอัตราค่าตอบแทนในบางวิชาชีพ เช่น ผู้พิพากษา และอัยการ มีสูงมาก ต้นทุนที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้านกฎหมายมีต้นทุนต่ำกว่าการจัดการศึกษาด้านอื่น จึงทำให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มีการจัดให้มีคณะนิติศาสตร์ แม้จะไม่มีความพร้อมทั้งในด้านหลักสูตรการเรียนการสอนและคุณภาพของอาจารย์ผู้สอน โดยมากพบว่าอาจารย์ผู้สอนอายุน้อย มีประสบการณ์น้อยหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฝึกอบรมและการปลูกฝังค่านิยมด้านจริยธรรมวิชาชีพแก่นิสิต       นักศึกษาอย่างเพียงพอ แต่มหาวิทยาลัยบางมหาวิทยาลัยหรือบางสถาบันการศึกษาก็เปิดให้มีการสอนกฎหมายแก่นักศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนที่เพิ่มมากขึ้น และแม้จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ในมหาวิทยาลัยที่จะเปิดคณะนิติศาสตร์ จะต้องมีอาจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิตามจำนวนที่กำหนด แต่ในทางปฏิบัติพบว่ามีการยืมชื่ออาจารย์จากสถาบันอื่นมาใส่แทน เพื่อให้ผ่านเกณฑ์การพิจารณา

สุดท้าย ก่อให้เกิดปัญหาการผลิตบัณฑิตด้านกฎหมายเป็นจำนวนมาก จนล้นตลาดแรงงาน และปัญหาคุณภาพบัณฑิตศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น

วิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากความต้องการของแรงจูงใจด้านรายได้ในบางวิชาชีพดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิด “ ธุรกิจการศึกษา ” ในทุกระดับ และผู้บริหารสถานศึกษาบางแห่งมีทัศนคติว่า เรื่องจริยธรรมวิชาชีพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่สอนยาก อยู่ที่การปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคล และมีสำคัญน้อยกว่าเรื่องการให้ความรู้ด้านวิชาการ การเปิดหลักสูตรการศึกษาจึงเน้นวิชาการที่จะต้องใช้ในเพื่อการสอบ เพื่อการแข่งขันในตลาดแรงงาน หรือเพื่อไปประกอบอาชีพ มากกว่าการเน้นที่จะอบรมนักศึกษาด้านจริยธรรมวิชาชีพอย่างจริงจัง

2.ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องประสิทธิภาพในด้านการบริหารงานบุคคลขององค์กรวิชาชีพ

จากผลการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความเห็นว่า เนื่องจากในการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยกลไกควบคุมความประพฤติและการบังคับใช้กฎหมายผ่านทางผู้แทนองค์กร อันได้แก่ผู้ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลขององค์กรวิชาชีพนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ หากองค์กรวิชาชีพใดมีผู้แทนองค์กรไม่มีความเข้มแข็งในการทำหน้าที่ ก็ย่อมจะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในองค์กรนั้นกระทำการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย

สาเหตุสำคัญของการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ มีด้วยกันหลายประการ เช่น

- การเห็นแก่พวกพ้องหรือ “ ระบบอุปถัมภ์ ” ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากระบบการหาเสียง และเลือกตั้งผู้ที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลซึ่งใช้วิธีการเลือกตั้ง จึงอาจจะทำให้เกิดระบบการต่างตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันมากกว่าการเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลพฤติกรรมของคนในองค์กรมิให้ฝ่าฝืนจริยธรรม และส่งผลให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติ การละเลยหรือเพิกเฉยต่อการกระทำผิด การไม่เอาจริงเอาจังกับผู้กระทำความผิดที่ฝ่าฝืนจริยธรรมเพราะเห็นว่าเป็นพรรคพวกเดียวกัน หรือเกรงว่าจะเสียคะแนนเสียงที่จะได้รับในการเลือกตั้ง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้านจริยธรรมวิชาชีพที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนที่กระทำความผิดไม่ได้รับการลงโทษ รวมถึงความเป็นกลางในการบริหารงานบุคคลซึ่งส่งผลเสียต่อการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง และการลงโทษทางวินัย การพิจารณาความดีความชอบที่ไม่เป็นธรรม และมีการคำนึงถึงแต่เรื่องลำดับอาวุโสมากกว่าเรื่องความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ผลงาน และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้น

การขาดการดูแล เอาใจใส่ อันเนื่องมาจากการข้อจำกัดของการบริหารงานบุคคลที่เกิดจากตัวผู้ทำหน้าที่ไม่มีเวลา หรือไม่มีความถนัดในงานด้านการบริหารงานบุคคล หรืออาจจะเกิดจากความไม่ต่อเนื่องในการบริหารงาน ซึ่งอาจจะมีการแต่งตั้ง โยกย้าย สับเปลี่ยน หรือมีการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ยังพบว่า ระบบการสรรหาบุคลาการเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งวิชาชีพกฎหมายยังขาดการทดสอบระบบความคิดและอุดมการณ์ในวิชาชีพอย่างจริงจัง กล่าวคือ ในการสอบคัดเลือกและการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความนั้น ที่ผ่านมามีการดำเนินการที่เป็นเพียงการดำเนินการเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งงานในวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถสืบถึงประวัติและความประพฤติที่แท้จริงของผู้สมัครได้ เพราะผู้ตอบจดหมายอ้างอิงมักจะเป็นผู้รู้จักมักคุ้นกับตัวผู้สมัครสอบ ซึ่งมักจะมีการช่วยเหลือกันมากกว่าที่จะให้การรับรองตอบข้อมูลที่แท้จริง

นอกจากนี้พบปัญหาเรื่องการขาดการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของ ผู้ประกอบวิชาชีพในขณะดำรงตำแหน่งอย่างเพียงพอ เพราะอาจเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะสามารถเข้าถึงพฤติกรรมและส่วนลึกของ ผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละคน

3.ปัญหาเรื่องความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้านเศรษฐกิจ จากสภาวการณ์ในปัจจุบันที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง จากอดีตอย่างมากเดิมที่คนในสังคมเป็นกลุ่มชุมชนเล็กๆ ประชากรไม่มาก ต่อมา จำนวนประชากรมากขึ้นจากเดิม เกิดการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติกันมากขึ้น ปัญหาสังคมเริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปัญหากฎหมายก็ย่อมมีความซับซ้อนขึ้นตามมา และเริ่มมีการพัฒนาการเรื่องสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็ย่อมจะได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่ง เห็นว่า ปัญหาเรื่องความจำเป็นทางเศรษฐกิจเป็นมูลเหตุจูงใจหนึ่งที่ทำให้เกิดการฝ่าฝืนหรือละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ หากบุคคลใดมีฐานะยากจน และมีจิตใจไม่เข้มแข็งด้านจริยธรรม หากมีผู้นำเงินหรือผลประโยชน์มาให้ ก็อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพก็ได้ ซึ่งวิชาชีพที่ประสบปัญหาในเรื่องนี้รุนแรงที่สุดคือวิชาชีพทนายความ เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่อาศัยรายได้ในการดำรงชีพจากลูกความเป็นหลัก มิได้มีค่าตอบแทนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นรายได้ประจำเหมือนดังเช่นวิชาชีพผู้พิพากษา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง พนักงานอัยการ

วิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากการที่มีผู้จบการศึกษาด้านกฎหมายเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราการแข่งขันในตลาดแรงงานมีสูงขึ้น เกิดการแย่งงานกันทำ มีการแข่งขันสูง เพราะจำนวนตำแหน่งงานไม่ได้มีเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายได้ทั้งหมด

ในประเด็นเกี่ยวกับตำแหน่งงานนั้น พบว่า มีจำนวนลดน้อยลง ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเห็นว่าส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายรัฐที่เพิ่มตำแหน่งงานในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายมากขึ้น (ซึ่งแต่เดิมเป็นงานที่ทนายความเป็นผู้ทำหน้าที่นี้แต่เพียงผู้เดียว) เช่น งานด้านที่ปรึกษากฎหมายของศาลเพื่อให้คำปรึกษาด้านคดีมรดก หรืองานช่วยเหลือประชาชนของพนักงานอัยการ จึงทำให้งานของทนายความถูกลดความสำคัญลง ประกอบกับงบประมาณที่ได้รับจากภาครัฐไม่เพียงพอ มีส่วนให้ทนายความส่วนหนึ่ง ฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อความอยู่รอดในสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดผลกระทบในเรื่องการตกต่ำของจริยธรรมวิชาชีพ

ในด้านสังค
จะเห็นได้ว่า สังคมไทยรับเอาวัฒนธรรมจากต่างประเทศมาใช้มากและขาดการแยกแยะ คัดกรองสิ่งที่ไม่ดีออกไป ซึ่งปัญหาด้านจริยธรรมวิชาชีพบางส่วนก็มีสาเหตุมาจากการรับเอาวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมที่ไม่ดีมา เช่น ลัทธิบริโภคนิยม การยอมรับเรื่องการให้สินบน ค่าน้ำร้อนน้ำชา ในทางธุรกิจว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทำกันมานาน มีการโกงกินกันในทุกวงการ การเลียนแบบหรือการเอาอย่างวิชาชีพอื่นซึ่งเริ่มเสื่อมโทรมด้านจริยธรรมตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ตกต่ำลง หรือการให้ความสำคัญกับการยอมรับนับถือผู้มีอำนาจและเงินตรามากกว่าการให้ความสำคัญและคุณค่าของความดีงามในจิตใจของคน การไม่จริงจังกับการจัดการขั้นเด็ดขาดกับการทุจริตเพราะเห็นแก่พวกพ้อง การมีทัศนคติเคารพคนที่ตำแหน่งหน้าที่การงานและมีฐานะดี เป็นต้น การไม่ส่งเสริมหรือยกย่องคนที่มีจิตสาธารณะ บุคคลที่กระทำเพื่อส่วนรวมหรือมีการส่งเสริมแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ การนำเอาวัฒนธรรมของวิชาชีพอื่นที่อาจเริ่มมีปรากฏการณ์ความเสื่อมถอยทางจริยธรรมมาใช้ โดยสำนึกผิด คิดว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

สิ่งเหล่านี้ ย่อมมีอิทธิพลที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากเดิม และแม้ว่าผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจะมีความเข้มแข็งทางจริยธรรมก็ตาม แต่จากกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้อาจจะไม่มีผลโดยตรง แต่ก็อาจมีผลโดยอ้อมต่อครอบครัวและผู้อยู่รอบข้างของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะเป็นเหมือนแรงต้านทานที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่พยายามดำรงตนให้อยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมดำรงตนได้อย่างยากลำบาก หรืออาจส่งผลให้เริ่มไขว้เขวต่อจริยธรรมในวิชาชีพ

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ในทางตรงกันข้าม หากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายยอมรับทัศนคติที่ไม่ถูกต้องมาอยู่เหนือจริยธรรมวิชาชีพ เช่น การยอมให้ผู้มีอำนาจ ตำแหน่งหน้าที่ หรือมีฐานะดี โดยไม่คำนึงว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้ตำแหน่งหน้าที่ อำนาจ หรือเงินตรามาโดยวิธีการใด เข้ามาแทรกแซงหรือมีอิทธิพลต่อการใช้ดุลพินิจหรือการตัดสินใจในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเต้นคดี การไม่ยึดถือคุณธรรม การใช้ตำแหน่งหน้าที่มาครอบงำการตัดสินใจโดยอิสระ ก็จะทำให้สังคมและประชาชนเกิดความเดือดร้อน เหตุผลเพราะวิชาชีพกฎหมายเป็นวิชาชีพที่ทำงานสื่อโดยตรงกับประชาชน ไม่เหมือนกับการทำงานในสาขาอาชีพอื่น และเนื่องจากวิชาชีพกฎหมายเป็นวิชาชีพที่ใช้กฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับประชาชน จึงเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกันกับสังคม

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังให้ความเห็นว่า การขาดความรู้เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของ ผู้ประกอบวิชาชีพก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาจริยธรรมได้เช่นกัน โดยเฉพาะความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านที่มีความเชื่อมโยงกันกับวิชาชีพอื่น เช่น การตัดสินคดีที่เกี่ยวกับแพทย์ เป็นต้น ซึ่งปัญหานี้นับวันจะยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและเกิดปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเฉพาะด้านมาทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี

4.ปัญหาเกี่ยวกับพื้นฐานการปลูกฝังค่านิยมจากครอบครัวและสังคม

ด้วยเหตุที่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายแต่ละคนมีพื้นฐานการปลูกฝังค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตที่แตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัวและสังคมนั้น ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันกับปัญหาเรื่องการขาดคุณธรรม และศีลธรรมในจิตสำนึก การขาดหิริโอตตัปปะ การไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อเรื่องการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่หรือเรื่องชาติภพ หากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอยู่ในครอบครัวหรือสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการปลูกฝังศีลธรรม ให้มีความละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำบาป เป็นสังคมที่มีวินัย ก็มักจะไม่มีปัญหาหรือมีปัญหาเรื่องการละเมิดศีลธรรมหรือมีการละเมิดศีลธรรมในระดับต่ำ แต่หากครอบครัวและสังคมของ ผู้ประกอบวิชาชีพดำรงอยู่หรือสภาพแวดล้อมที่ทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพพบเห็นแต่การกระทำที่ผิด และขาดตัวอย่างที่ดี ขาดต้นแบบอย่างของผู้มีศีลธรรมอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเกิดจากครอบครัว สังคม เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน วัฒนธรรมองค์กร ที่ไม่ได้เห็นความสำคัญของการกระทำความดี หรือการให้คุณค่าหรือค่านิยมที่ดีงาม หรือให้ความสำคัญกับการมีจิตสำนึกในจริยธรรมวิชาชีพ ตรงกันข้ามคือให้ความสำคัญกับลัทธิบริโภคนิยม วัตถุนิยม อำนาจนิยม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะมีการฝ่าฝืนและการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพในระดับสูง รวมถึงการที่สังคมปัจจุบันไม่ได้ส่งเสริมหรือยกย่องผู้ที่กระทำความดี มีจริยธรรมวิชาชีพ มากกว่าคนที่มีตำแหน่งสูงหรือประสบความสำเร็จทางการงาน เกิดค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง และทำให้ขาดขวัญและกำลังใจแก่ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ

วิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาในเรื่องดังกล่าวข้างต้น แม้อาจจะมองว่าเป็นเรื่องของจิตสำนึกของแต่ละบุคคลหรือเป็นเรื่องจริยธรรมส่วนตัว แต่การขาดจริยธรรมส่วนตัวนี้ได้กลายเป็นสาเหตุของทุกปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตและการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพในระดับต่าง ๆ และเนื่องจากในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจและทำหน้าที่ในการตีความกฎหมายเพื่อให้เกิด “ ความยุติธรรม ” ดังนั้น หากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายเป็นผู้ที่ขาดจริยธรรมส่วนตัว จะส่งผลให้จริยธรรมสาธารณะบกพร่องไปด้วย แม้จะมีกฎหมายบังคับใช้ไว้อย่างไร หากผู้ใช้กฎหมายอาศัยช่องว่างของกฎหมาย ตีความกฎหมายเอื้อประโยชน์หรือเข้าข้างตนเองและพวกพ้อง ก็ย่อมจะทำให้กฎหมายนั้นขาดความยุติธรรม และเกิดการบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน

5. ปัญหาการทุจริต หรือมีการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพในกรณีอื่น

จากการสัมภาษณ์ความเห็นผู้เชี่ยวชาญบางท่าน เห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมีปัญหาแยกประเภทได้ดังนี้

5.1 ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ พบว่ามีปัญหาเรื่องการทุจริต การวิ่งเต้นคดี เรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อหวังผลให้เกิดการพลิกคดีจากแพ้เป็นชนะ พบปัญหาในทุกระดับศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับศาลชั้นต้นมากกว่าศาลระดับอื่น ซึ่งมักจะทราบในขั้นตอนแรกว่าใครเป็นเจ้าของคดีอย่างชัดเจน อันส่งผลต่อความ ไม่เป็นกลาง ในการตัดสินคดีของศาล ปัญหาเรื่องความล่าช้าในการพิจารณาพิพากษาคดี

5.2 ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ดำรงตำแหน่งพนักงานอัยการ พบว่า มีปัญหา เรื่องการทุจริต การวิ่งเต้นคดี เรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อหวังผลให้เกิดการพลิกคดีจากแพ้เป็นชนะหรือการยื่นฟ้องหรือไม่ยื่นฟ้องคดี ส่วนการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพในกรณีอื่น เช่น ปัญหา เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศโดยวาจา ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องใหม่ที่มีการร้องเรียนมากขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับความเหมาะสมในเรื่องการดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของส่วนราชการต่าง ๆ ของพนักงานอัยการ แล้วต่อมา เมื่อส่วนราชการนั้นถูกฟ้องร้อง พนักงานอัยการที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนราชการนั้นก็จะถูกฟ้องเป็นตัวความเองด้วย ซึ่งแตกต่างกับในต่างประเทศที่จะมี ข้อห้ามไว้

5.3 ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ดำรงตำแหน่งทนายความ พบว่ามีปัญหาเรื่องความผิดต่อตัวความมากที่สุด เช่น การขาดความรู้ความสามารถในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและการไม่สามารถให้คำปรึกษาแก่ลูกความได้ แต่มีการอวดอ้างว่ามีความรู้ความสามารถเกินจริง การหลอกลวงเอาเงินลูกความโดยอ้างว่าต้องใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหรือทำให้ลูกความต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในอัตราที่สูงมาก การรับเงินจากลูกความมาเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี แล้วต่อมามีการไม่เอาใจใส่คดี การทิ้งงาน หรือกรณีรับเงินค่าธรรมเนียมศาล แต่เมื่อคดีเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องมีการคืนเงินที่ได้รับ แต่ไม่คืนเงิน การเข้าข้างลูกความโดยไม่พิจารณาถึงความถูกต้อง รวมถึงการว่าความในลักษณะก่อกวน บีบบังคับ หรือสร้างความรำคาญในการพิจารณาคดี ปัญหาเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น การที่ทนายความว่าต่างหรือแก้ต่างให้ลูกความฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพ เป็นต้น

5.4 ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพบปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าอาจจะมีทัศนคติไม่เป็นกลาง หรือการตีความกฎหมายโดยอำเภอใจ หรือความเห็นส่วนตน

6.ปัญหาการขาดนโยบายในการบริหารจัดการ 
 ผู้เชี่ยวชาญบางท่านมีความเห็นว่า ปัจจุบันมีปัญหาการขาดนโยบายในการบริหารจัดการหรือการอำนวยความยุติธรรมของชาติที่เชื่อมโยงกับการดำรงอยู่และความสามารถในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ

7.ปัญหาการขาดองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพใหญ่ หรือมีองค์กรรับผิดชอบแต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หรือองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบมีปัญหาขัดแย้งระหว่างองค์กร
ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันกำหนดหน้าที่ให้    ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นมีอำนาจในการกำกับดูแลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพบว่าเป็นเรื่องร้ายแรง จะต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ จึงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลด้วยว่าจะให้ความสำคัญมากน้อยเพียงใด

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า องค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ควรมีการตรวจสอบทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งการตรวจสอบโดยองค์กรภายในจะต้องเข้มแข็ง บุคลากรภายในจะต้องช่วยกันตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ และสมาชิกภายในองค์กรจะต้องเห็นพ้องต้องกันให้เกิดการยอมรับ ซึ่งจะต้องดูความเห็นของคนส่วนใหญ่และประเพณีที่ปฏิบัติกันมา จึงควรเป็นคนในองค์กรที่ช่วยกันดูแลเพราะจะทราบเรื่องดี และบางเรื่องเป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางเรื่องกำหนดยาก บางเรื่องควรให้เป็นไปตามจิตสำนึกของสมาชิกในองค์กรนั้น สำหรับการตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกนั้น เห็นว่าเป็นการเข้ามาตรวจสอบซ้ำให้เกิดความแน่ใจ

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ประเด็นปัญหาเรื่ององค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้พิพากษา พบว่ามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ปัญหาเรื่องการไม่ได้รับความร่วมมือในการตรวจสอบจริยธรรมซ้ำ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการตรวจสอบเพราะว่าอาจจะมีกรณีที่เกิดการช่วยเหลือกันเองในฝ่ายบุคคลขององค์กรวิชาชีพ (ระบบอุปถัมภ์) ซึ่งเกี่ยวพันกันกับปัญหาที่มาของ ก.ต.กับระบบเลือกตั้ง นอกจากนี้ ระหว่างองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินและ ป.ป.ช. ยังมีปัญหาเรื่องความชัดเจนในการแบ่งแยกคดี และปัญหาเรื่องร้องเรียนซึ่งบางครั้งผู้ร้องเรียนอาจจะร้องเรียนซ้ำซ้อนกันหลายองค์กร เป็นต้น ซึ่งบางเรื่อง พบว่าเป็นเรื่องร้องเรียนกรณีเดียวกัน แต่ผลการพิจารณาอาจแตกต่างกัน เพราะองค์กรแต่ละองค์กรต่างคนต่างทำ

สำหรับในส่วนของการกำกับดูแลนั้น คณะผู้วิจัยมีข้อสังเกตว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินและ ป.ป.ช. มีอำนาจในการกำกับดูแลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ซึ่งครอบคลุมถึงผู้พิพากษา ตุลาการศาลปกครอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พนักงานอัยการ ส่วนทนายความนั้น ไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่อยู่ในการกำกับดูแลของเนติบัณฑิตยสภา และศาลปกครอง

ปัญหาในเรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กรที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลอาจมาจากการตีความกฎหมายหรือมีทัศนคติในการดำเนินคดีที่แตกต่างกัน

8.ปัญหาการขาดต้นแบบของบุคลากรที่ดำรงตนเป็นตัวอย่างด้านจริยธรรมวิชาชีพ

การขาดบุคคลต้นแบบที่จะกล้าใช้ดุลพินิจอย่างตรงไปตรงมา มีความกล้าหาญที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ส่วนรวม และการขาดการเชิดชูคนดีในวิชาชีพที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งขาดบุคคลตัวอย่างโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงที่เคารพและปฏิบัติตามจริยธรรม

ผู้เชี่ยวชาญบางท่านมีข้อสังเกตว่า การยกย่องเชิดชูนักกฎหมายดีเด่นในบางสถาบัน บางครั้งคัดเลือกโดยให้บุคคลที่ได้รับการยกย่องคือบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูง มากกว่าจะเลือกบุคคลที่ควรยกย่อง
จริง ๆ

9.ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่จะรู้เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพทั้งระบบ 
วิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากปัญหา เรื่องมาตรฐานในการศึกษา การเรียนการสอนและส่วนหนึ่งมาจากการขาดการให้ความสำคัญเรื่องจริยธรรมวิชาชีพทั้งระบบ และขาดผู้ที่จะมาศึกษาอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดปัญหานี้

10. ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพหรือมีความรู้แต่ค่อนข้างน้อย หรือทราบว่ามีหลักจริยธรรม แต่ไม่ได้ให้ความสนใจ

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งมาจากการขาดความเอาใจใส่ของตัว ผู้ประกอบ วิชาชีพกฎหมายเองด้วย คืออาจทราบว่ามีกฎหมายและหลักจริยธรรมวิชาชีพ แต่ไม่ได้ให้ความสนใจศึกษาและบางครั้งอาจเป็นเพราะอดทนต่อความต้องการของกิเลสไม่ได้ เพราะกิเลส ความโลภ โกรธ หลง นั้น เอาชนะได้ยาก คนจึงอยากได้และอยากเป็น โดยไม่คำนึงถึงการได้มา

วิเคราะห์แล้วเห็นว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการขาดการศึกษา ฝึกอบรม การปลูกฝังอุดมการณ์ ค่านิยม ด้านจริยธรรมวิชาชีพอย่างเพียงพอ

11.ปัญหาเรื่องด้านกฎหมาย

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า กฎหมายมีเป็นจำนวนมาก แต่การขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้อย่างจริงจัง ความสำคัญอยู่ที่ผู้ที่ทำหน้าที่ในการบังคับใช้ว่าจะจริงจังเพียงใด เช่น เรื่องการผิดวินัย บางเรื่องอาจจะทราบผลตั้งแต่มีการตั้งกรรมการสอบสวนวินัย เพราะหากมีการช่วยเหลือกัน ก็มักจะมีการถามผู้ที่ถูกร้องเรียนว่าจะตั้งใครเป็นกรรมการสอบสวน

สำหรับการปรับปรุงกฎหมายนั้น ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ในบางเรื่องที่ประมวลจริยธรรมกำหนดไว้โดยใช้คำว่า “ พึง ” มากกว่าคำว่า “ต้อง” นั้น เห็นว่าคนเรามักจะเลือกที่จะ “ พึง ” มากกว่าจะ “ ต้อง ” ทำ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ข้อกำหนดในประมวลจริยธรรมหลายข้อที่ควรจะใช้คำว่า “ ต้อง ” มากกว่าคำว่า        “ พึง ”

คณะผู้วิจัยมีข้อสังเกตว่า บางส่วนเป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกันกับปัญหาการขาดองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพใหญ่ หรือมีองค์กรรับผิดชอบแต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หรือองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบมีปัญหาขัดแย้งระหว่างองค์กรด้วย

12. ปัญหาเกี่ยวกับการร้องเรียน การต่อสู้คดี และระบบการคุ้มครองพยาน

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า สาเหตุปัญหาจริยธรรมวิชาชีพอีกประการคือ การขาดการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการส่งเรื่องร้องเรียนแก่ผู้รับผิดชอบ และ ก.ต. , ก.อ. เอง มีปัญหาทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งแท้จริงแล้ว ควรจะเน้นทำเรื่องจริยธรรมเป็นหลัก และบางกรณี อำนาจในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับจริยธรรมอาจจะอยู่ในอำนาจของผู้กล่าวหาก็ได้ เช่น ผู้พิพากษาระดับต้น อาจจะร้องเรียนการกระทำของผู้พิพากษาระดับสูงที่กระทำผิดจริยธรรม แต่ผู้พิพากษาระดับต้นอาจจะกลัว ไม่กล้าที่จะร้องเรียน เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ประเทศไทยยังขาดการให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทางคดีที่จะช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่ต้องมีการต่อสู้คดีกับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่กระทำผิดจริยธรรม ปัญหาเรื่องการขาดงบประมาณสนับสนุน ขาดมาตรการคุ้มครองพยานที่มักจะได้รับความเดือดร้อนจากการถูกฟ้องร้องกลับ และปัญหาเรื่องอำนาจเถื่อน เช่น การข่มขู่ทำร้าย การ คุกคามชีวิต เป็นต้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้คดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ

นอกจากนี้ เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการร้องเรียนเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หากหน่วยงานได้รับเรื่อง จะมีการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้วให้มีการรายงานผลให้ทราบและเปิดเผยผลการดำเนินงานต่อสาธารณชน ปัญหาที่พบคือระยะเวลาในการตรวจสอบ เนื่องจากการพิสูจน์ถูกหรือผิดจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร และพบว่าบางกรณีผู้ร้องเรียนอาจร้องเรียนซ้ำซ้อนกันหลายองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ


13.ปัญหาการขาดมาตรฐานกลางในการตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพ

ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ขณะนี้ ประเทศไทยไม่มีมาตรฐานกลางในการตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย เพราะแต่ละองค์กรไม่ว่าจะเป็นศาล อัยการ ทนายความ ได้แยกตัวออกไปตรวจสอบในองค์กรของตนเอง


14. ปัญหาเรื่องการขาดฐานข้อมูลเกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพหรือมีข้อมูลแต่ขาดความสมบูรณ์

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามีปัญหาในการจัดทำฐานข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้การเรียนรู้ไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร และขาดการรวบรวมสถิตเรื่องร้องเรียน สถิติการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งที่มีเรื่องร้องเรียนมาก เพราะประชาชนอาจจะขาดความรู้ความเข้าใจระบบงานของวิชาชีพกฎหมาย

เรื่องการรายงานการกระทำผิด ปัจจุบัน หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริยธรรม มี เพียงสภาทนายความเท่านั้นที่จะมีการรายงานกลับมาที่เนติบัณฑิตยสภา แต่ถ้าเป็นกรณีของผู้พิพากษาหรืออัยการที่กระทำความผิด หรือถูกไล่ออก ก็ไม่ได้มีการรายงานแจ้งกลับมาที่เนติบัณฑิตยสภา จึงอาจจะพบว่า    ผู้พิพากษาหรืออัยการที่ถูกไล่ออกอาจจะยังไม่ขาดจากสมาชิกภาพความเป็นสามัญสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาก็ได้

15. ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณไม่เพียงพอ

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามีปัญหาด้านงบประมาณ ในการพัฒนาวิชาชีพ โดยเฉพาะทนายความมักจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียงพอและปัญหาขาดงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนในการต่อสู้คดีกับ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่กระทำผิดจริยธรรม

16. ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม

-พบว่ามีปัญหาด้านจริยธรรมสาธารณะมากกว่าจริยธรรมส่วนตัว

- ตัวอย่างที่พบคือกรณีทนายความ เช่น การเปิดเผยความลับของลูกความ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ


17.ปัญหาการขาดการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบจากสื่อมวลชนและประชาชน

ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเห็นว่า ปัจจุบัน สื่อมวลชนก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง และไม่ค่อยเป็นอิสระเพราะตกอยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิบริโภคนิยม ประกอบกับความจำเป็นในเรื่องของความต้องการหารายได้ และสังคมปัจจุบันก็ไม่ได้แสดงความรังเกียจคนผิด

นอกจากนี้ ประชาชนไม่ได้สนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่น การประกาศคัดค้านผู้สมัครเป็นทนายความหรือสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภา เป็นต้น กล่าวคือ แม้จะมีการประกาศ แต่ไม่ได้รับความสนใจที่จะมีผู้เข้ามาคัดค้านผู้สมัครแต่ประการใด

18.ปัญหาขาดผู้เชี่ยวชาญด้านคดีที่จะช่วยเหลือประชาชนต่อสู้กับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่กระทำความผิดจริยธรรมวิชาชีพ และปัญหาการขาดผู้เชี่ยวชาญด้านคดีขององค์กรอิสระบางองค์กรเพื่อทำหน้าที่ในการไต่สวนหรือสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพ

(พิจารณาเชื่อมโยงกับปัญหาในข้อ 12 )



ภาพรวมของสภาพปัญหาจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 28 คน สรุปผลได้ว่า ปัญหาที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มีความเห็นตรงกันมากที่สุด สามอันดับแรก ดังนี้ คือ

อันดับที่หนึ่งคือปัญหาเกี่ยวกับปัญหาการขาดการปลูกฝัง ค่านิยม ความรู้ ในการศึกษาเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ การมีมาตรฐานการเรียนการสอนเกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพที่ต่ำและน้อยเกินไป

รองลงมาอันดับสองคือปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการบริหารงานบุคคลในองค์กรวิชาชีพ และปัญหาสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป และอันดับที่สามคือปัญหาการทุจริต หรือมีการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพในกรณีอื่น ตามลำดับ

 ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบ

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพ   สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

- ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายเป็นบุคคลที่สังคมมักจะให้ความเชื่อถือและเป็นผู้ที่มีบทบาทในการชี้นำสังคมหรือสร้างมาตรฐานสังคม และมีบทบาทในการระงับข้อพิพาทและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังนั้น หากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายขาดจริยธรรมก็จะส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมขาดความเที่ยงธรรมทั้งระบบ สังคม เกิดความสับสนวุ่นวาย เกิดวิกฤตศรัทธา ประชาชนขาดที่พึ่ง เดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม และประชาชนจะไม่หวังพึ่งพากฎหมาย แต่จะพึ่งตนเองและเกิดปัญหาเรื่องการไม่เคารพกฎหมาย

- สังคมมองภาพผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายทั้งหมดในด้านลบ แม้ว่าการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพจะเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมส่วนตนหรือจากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม เช่น การไม่เอาใจใส่คดี การทิ้งงาน การหลอกลวงลูกความ การทุจริต วิ่งเต้นคดี แต่ผลของการกระทำของต้นทางดังกล่าวก่อให้เกิดวงจรเชื่อมโยงไปยังทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลขาดความยุติธรรมในท้ายที่สุด และทำให้คนในวงการส่วนใหญ่ไม่ได้รับความรัก ความเชื่อมั่นและความศรัทธาจากประชาชนส่วนรวม

- การขาดการปลูกฝัง และการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพอย่างเพียงพอจะนำไปสู่การละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ

- การรักษาสัจจะ เป็นจริยธรรมที่จะต้องให้ความสำคัญ การที่คนมีจริยธรรมสูงหมายถึงกฎหมายจะเป็นกฎหมาย ซึ่งหากขาดคุณธรรมเรื่องนี้ จะมีผลกระทบอย่างมาก เมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องมีการแข่งขันกับต่างประเทศในการเปิดเสรีทางการค้า โดยจะส่งผลในเรื่องความเชื่อถือและเชื่อมั่นในการดำเนินการทางธุรกิจและการลงทุน

- กระแสสังคมและความรู้สึกของประชาชนกับคำพิพากษาของศาล เป็นเรื่องสำคัญที่ควรให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากคำตัดสินคดีของศาลย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ ในขณะที่ศาลจะต้องยึดมั่นในหลักการของความเป็นกลางและปราศจากอคติ แต่ในบางเรื่อง เช่น เรื่องค่าสินไหมทดแทนในคดีละเมิดหรือการลงโทษในคดีอาญา บางครั้งกระแสสังคมในขณะนั้นอาจจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินคดีหรือการพิพากษาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าสินไหมทดแทนหรือการลงโทษจำเลยในคดีอาญาก็ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง ดังนั้น ผู้พิพากษาจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการให้เหตุผลอย่างแจ้งชัดในคำพิพากษาที่กำหนดอัตราดังกล่าว และจะต้องเกิดความสมดุลระหว่างการรับฟังกระแสสังคมในฐานะที่เป็นส่วนประกอบการพิจารณาในการใช้ดุลยพินิจเพื่อการกำหนดอัตราค่าสินไหมทดแทนและการลงโทษจำเลย กับพยานหลักฐาน บทกฎหมายและหลักการของความเป็นกลาง รวมทั้งความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา โดยจะต้องไม่ทำให้เกิดข้อสงสัยหรือระแวงว่าคำพิพากษาจะมีความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะหากสาธารณชนระแวงสงสัยหรือไม่เชื่อมั่นศรัทธา ก็จะทำให้สังคมเกิดความสับสน วุ่นวายและเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม

- ผลกระทบเกี่ยวกับจริยธรรมในปัจจุบัน เช่น การไม่ยอมรับกฎหมาย สังคมเลวร้าย นักกฎหมายมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะนักกฎหมายเป็น ผู้ถือกฎหมาย ถ้าเรื่องนั้นผิดกฎหมาย ต้องกล้าบอกว่าผิด เรื่องใดถูกก็ต้องบอก หลักการต้องบอกแล้วช่วยให้เขาสามารถแก้ปัญหานั้นๆ ได้ ต้องมีความรู้ยุติข้อเท็จจริงให้ได้ใช้กฎหมายต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม นักกฎหมายต้องติดตาม และต้องรู้ว่ามีผลกระทบอย่างไร


ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นกลไกการบังคับใช้กฎหมาย

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นกลไกการบังคับใช้กฎหมายสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายส่วนใหญ่เห็นว่า กลไกการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับประมวลจริยธรรม/จริยธรรมวิชาชีพ คณะกรรมการ การลงโทษ นั้น มีการกำหนดไว้ชัดเจน แต่มีความบกพร่องในการบังคับใช้หรือมีช่องว่าง และในการดำเนินการพิจารณาสอบสวนจริยธรรมมักจะใช้เวลานาน ยึดติดรูปแบบมากกว่าดุลพินิจที่ได้รับความไว้วางใจ

· ข้อเสนอแนะ

- ควรมีการปรับปรุงข้อควรปฏิบัติบางประการจาก “ พึง ” เป็น “ ต้อง ” และควรระบุข้อควรทำและไม่ควรทำ ให้ชัดเจน นอกจากนี้ การออกกฎหมายที่จะควบคุมพฤติกรรม จะต้องเป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริงและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติด้วย

- ควรมีการสร้างมาตรฐานกลางของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ชัดเจน

- ควรมีการแก้ไขปัญหาเรื่องความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน
ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมีความจริงจังในการบังคับใช้ โดยไม่เห็นแก่พวกพ้อง หรือระบบอุปถัมภ์
และจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ

- ควรมีการปรับปรุงระบบเรื่องร้องเรียน และการให้ข้อมูล การประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการเพิ่มมาตรการตรวจสอบซ้ำให้แน่ใจ การยื่นบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

- ผู้ตรวจการแผ่นดินและ ป.ป.ช. ควรมีการทำงานร่วมมือกัน ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคดีที่ไม่ชัดเจนและจำนวนเรื่องร้องเรียนที่ซ้ำซ้อนกัน

- สภาทนายความ ควรมีการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในส่วนของอำนาจหน้าที่สภานายกพิเศษให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ไม่ควรมีอำนาจในการวินิจฉัย เนื่องจากปัจจุบันมีศาลปกครองทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้อำนาจทางปกครองของสภาทนายความแล้ว

- สำหรับการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนนั้น จะต้องมีการคุ้มครองคนที่ให้ข้อมูล ได้แก่ การไม่จดชื่อของผู้ที่ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลไม่จำเป็นต้องมีการเปิดเผยตัว แต่จะให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ได้รับเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ได้อาจจะมาจากบัตรสนเท่ห์ก็ตาม หากเรื่องที่ร้องเรียนมีมูล ดังนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องเรียน จะต้องนำเรื่องร้องเรียนมาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อตรวจสอบประกอบกับการเก็บรวบรวมหลักฐานที่ผู้กระทำผิดทิ้งร่องรอยไว้ตามที่ต่าง ๆ

- ในเรื่องการกันบุคคลไว้เป็นพยาน อาจจะทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาตรวจสอบได้ เช่น การ      ซัดทอดของพยานในคดี หากมีการซัดทอดไปยังผู้พิพากษาหรืออัยการที่เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสหรือความไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม หากหลายครั้งติดต่อกันก็มีเปอร์เซ็นต์ความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับหนึ่ง แม้ว่าการซัดทอดนั้นจะมาจากผู้กระทำความผิดที่มีอคติส่วนตัว แต่ข้อมูลที่ได้นั้น องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบควรตระหนักว่าเป็นเรื่องที่อาจมีเค้ามูลความเป็นจริงซึ่งสามารถจะนำมาใช้ในการตรวจสอบได้ในระดับหนึ่ง



· ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

· ด้านการปลูกฝังค่านิยม การศึกษาอบรม หลักสูตรและการเรียนการสอน

- องค์กรวิชาชีพแต่ละองค์กรจะต้องตระหนักถึงคุณค่าในการรักษาจริยธรรมวิชาชีพให้มากขึ้น

- ควรรื้อฟี้นบัณฑิตศึกษาอย่างในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการวางมาตรฐานกลางด้านหลักสูตรการศึกษา และ
มีอำนาจในการบังคับการให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น

- ปรับปรุงการศึกษา การเรียนการสอนจากเดิมที่เน้นการท่องจำ เป็นวิธีการวิเคราะห์ หาเหตุผล แยกแยะความถูกผิดทางจริยธรรม การศึกษากฎหมายจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา และควรมีการสอนทักษะทางด้านกฎหมายให้มากขึ้น ให้สามารถวิเคราะห์และคิดอย่างนักกฎหมาย วิธีการทางนิติศาสตร์ ปรับปรุงการเรียนการสอนโดยการฝึกให้มีการโต้เถียงกันมากกว่าจะเน้นเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียวอย่างในปัจจุบัน

- ควรให้ความสำคัญกับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่เป็นต้นแบบด้านจริยธรรมวิชาชีพมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเตือนนักกฎหมายให้มีการเรียนรู้ ได้ข้อคิด เกิดการถ่ายทอดและปลูกฝังจริยธรรมจากตัวอย่างที่ดี เช่น ในพิธีปฐมนิเทศก์ ปัจฉิมนิเทศก์ และการอบรมธรรมะต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

- ปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มการบรรจุวิชาหลักวิชาชีพกฎหมายเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรของทุกสถาบันการศึกษา การจัดให้มีการสอบเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ ทั้งในมหาวิทยาลัยและองค์กรวิชาชีพ สภาทนายความ เนติบัณฑิตยสภา และต้องสร้างบุคลากรครูผู้สอนที่เป็นที่ยอมรับและมีความเข้าใจลึกซึ้งในด้านจริยธรรมวิชาชีพ

- ควรมีการจำกัดจำนวนบุคลากรที่จะเข้าสู่ระบบให้น้อยลง เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพผู้ประกอบวิชาชีพได้ดียิ่งขึ้น เพราะหากมีผู้เรียนกฎหมายมาก จะทำให้การตรวจสอบคุณภาพทำได้ยาก และลดปัญหาเรื่องการผลิตบุคลากรล้นตลาดแรงงาน

- ในการศึกษาอบรมผู้ประกอบวิชาชีพ เนติบัณฑิตยสภาควรมีหลักเกณฑ์ในการทดสอบเรื่องของพฤติกรรมด้วย นอกจากการเกณฑ์การทดสอบความรู้ทางกฎหมาย

- หากจะมีการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษา การเรียนการสอน บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่มีความสำคัญ คือเนติบัณฑิตยสภา เพราะว่าปัจจุบัน การบังคับกวดขันคุณภาพมาตรฐานและทิศทางของโรงเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำได้ยาก เนื่องจากจำนวนมหาวิทยาลัยที่ผลิตนักกฎหมายมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ถ้ามีการปฏิรูป โดยเนติบัณฑิตยสภาเป็นศูนย์กลาง จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของการศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยในโรงเรียนกฎหมายต่าง ๆ ทั้งนี้ เพราะเนติบัณฑิตยสภาเป็นเงื่อนไขของการเข้าสู่วิชาชีพ และมาตรฐานที่โรงเรียนกฎหมายอื่นๆ จะต้องได้รับการรับรอง จึงควรมีการวางยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปที่เนติบัณฑิตยสภา

- เนติบัณฑิตยสภาควรมีการปรับหลักสูตรที่จะเกื้อกูลต่อนักกฎหมายในทุกอาชีพสาขา ซึ่งจะทำให้ได้ ศูนย์รวมนักกฎหมายของประเทศไทย ควรนำคนที่มีความรู้ในศาสตร์แขนงใดแขนงหนึ่งมาก่อนศึกษากฎหมาย โดยในส่วนวิชาชีพนักกฎหมายนั้น จะต้องปลูกฝังอุดมการณ์วิชาชีพ ความเชื่อมโยงระหว่างวิชาชีพกฎหมายทุกสาขาเข้ากับผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

- ควรมีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่จะต้านทานแรงกระแทกของวัตถุนิยม ธนบัตรนิยมและบริโภคนิยม ยี่ห้อนิยมและนำปรัชญาพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้ามาเป็นแกนในหลักสูตรหรือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของหลักสูตร

- ควรมีการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต สิทธิพลเมือง การละอายและการเกรงกลัวต่อบาป (หิริโอตตัปปะ) ความมีวินัย ฝึกให้รู้จักรับผิดชอบให้แก่เยาวชน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ในสถาบัน ครอบครัว สถาบันทางศาสนา สังคมเป็นสำคัญ โดยให้มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้ และมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักเรื่องสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น และพ่อแม่จะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก ครูต้องอยู่ในศีลธรรม

- ควรพัฒนามาตรฐานความรู้ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศและกฎหมายต่างประเทศให้ทัดเทียมกับนักกฎหมายต่างชาติ

- ควรปลูกฝังให้เกิดค่านิยมหลักของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายและในการทำงานว่า ให้มีความซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมา เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม บาปบุญคุณโทษ หิริโอตตัปปะ (ความละอาย ความ เกรงกลัวต่อบาป) การรักษาสัจจะ และมีความคิดว่า การทำความดี การปฏิบัติตามจริยธรรมวิชาชีพเป็น เรื่องที่เป็นการปฏิบัติปกติ โดยทั่วไป มิใช่เป็นเรื่องความดีที่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษจากการทำงานปกติ เช่น ควรมีการสอดแทรกองค์ความรู้และมีการถ่ายทอดตัวอย่างที่ดีให้นักศึกษาเห็นอยู่เป็นประจำ

-ทนายความควรจะผ่านการอบรมจากเนติบัณฑิตยสภาด้วย


· ด้านการบริหารงานบุคคล

- ควรมีการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งฝ่ายบุคคลที่กำกับดูแล ให้มีการจัดการเลือกตั้งที่ได้ความสมดุลระหว่างคนในองค์กรกับคนที่ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติมากยิ่งขึ้น

- ควรมีการสร้างเกณฑ์หรือกรอบที่ใช้สำหรับการทดสอบหรือการใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดมาตรฐานทางจริยธรรมมากขึ้น

* ข้อสังเกตุ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ในการตรวจสอบจริยธรรมจะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังว่า บางครั้งผู้ที่ถูกร้องเรียนว่ากระทำผิดหรือละเมิดจริยธรรมอาจจะกำลังใช้ความเห็นหรือความรู้ความสามารถตรงไปตรงมา แต่อาจจะเป็นที่ไม่พอใจแก่คนบางกลุ่ม ต้องแยกให้ออกชัดเจนว่าเป็นกรณีการใช้ดุลพินิจหรือเป็นเรื่องทุจริต

- จะต้องมีการรณรงค์เรื่องจริยธรรมวิชาชีพและจะต้องมีการตรวจสอบทางจริยธรรมให้มากยิ่งขึ้น บางเรื่องอาจจะไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดจริยธรรมก็ได้ จำเป็นต้องนำมาพิจารณาด้วย การใช้ดุลพินิจจะต้องประกอบไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม มิใช่พิจารณาแต่เพียงตัวบทกฎหมายอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาควบคู่กัน

- การปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. และผู้ที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่ง    แต่งตั้ง โยกย้าย จะต้องคำนึงถึงระบบคุณธรรม ความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต และผลงาน เป็นสำคัญ ส่วนเรื่องลำดับอาวุโสควรเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษามากยิ่งขึ้น ควรพิถีพิถันในการเรียงคำพิพากษาให้มีคุณภาพสูงทั้งด้านข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษในคดีอาญาและการกำหนดค่าเสียหายในคดีแพ่ง และให้ความเอาใจใส่ในเรื่องลีลาโวหารของคำพิพากษาให้แจ้งชัดและรัดกุม

การรายงานให้ความดีความชอบจะต้องตรงกับความเป็นจริงและเป็นกลาง และควรมีการสร้างระบบการตรวจสอบและประเมินการรายงานของผู้ประเมินเพื่อป้องกันการรายงานที่ไม่เป็นความจริงและไม่เป็นกลางด้วย รวมทั้ง มีมาตรการการลงโทษ หากพบว่าผู้ประเมินไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการตรวจสอบจะต้องทำอย่างรอบด้าน มิใช่จะพิจารณาผลการรายงานจากผู้บังคับบัญชาแต่เพียงอย่างเดียว

- เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้พิพากษาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมควรมีการจัดทำทำเนียบประวัติการทำงาน ความรู้ความสามารถ ผลงานและข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะสามารถทำหน้าที่เป็น ก.ต. ให้ผู้พิพากษาด้วยกันทราบ เพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องการหาเสียงของผู้สมัครเป็น ก.ต. ได้ในระดับหนึ่ง และเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้พิพากษา

- เรื่องการแก้ไขปัญหาการเลือกคนให้เหมาะสมกับงานและปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้น เห็นว่า ควรมีการจัดทำบัญชีรายชื่อและประวัติการทำงานในอดีตของผู้พิพากษาที่สำเร็จการศึกษาเฉพาะด้านไว้ และจัดให้มีการบรรจุคนตรงกับสายงานที่บุคคลเหล่านั้นมีความถนัด การแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเข้ามาเป็นผู้พิพากษาในศาลเชี่ยวชาญเฉพาะให้มากขึ้น เช่น ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ด้านภาษีอากร ด้านเด็กและเยาวชน ด้านแรงงาน โดยอาจใช้การเทียบตำแหน่งหรือการเทียบวุฒิและประสบการณ์ให้มากขึ้น รวมถึงการแต่งตั้ง การบรรจุเพื่อปฏิบัติหน้าที่ การเลื่อนตำแหน่งก็จะต้องให้ตรงกับความถนัดและสายงานที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสร้างความเชี่ยวชาญอันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน แทนที่จะมีระบบสายอาวุโสสายเดียวจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาที่สอบคัดเลือกเข้ามาเป็นอันดับสุดท้ายไปจนถึงอันดับสูงสุดคือประธานศาลฏีกา

- ควรมีการปรับปรุงเรื่องลำดับอาวุโสให้มีหลายสาย เช่น ในระบบอาวุโสของข้าราชการพลเรือน โดยอาจจะกำหนดให้ผู้พิพากษาที่อยู่ชั้นเดียวกันมีอาวุโสเท่ากันทั้งชั้น เพื่อจะได้มีตัวเลือกในการสรรหาบุคคลที่ดีมีคุณธรรมได้มากขึ้น

- ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในองค์กรจะต้องมีการผนึกกำลังกันเพื่อให้เกิดมาตรการทางสังคมในการต่อต้านระบบอุปถัมภ์และปัญหาการคอรัปชั่นอย่างเข้มแข็ง และเพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องชอบธรรมอันเป็นอุดมการณ์ในวิชาชีพกฎหมาย รวมถึงช่วยกันสอดส่องดูแลคนในวงการ ช่วยกันท้วงติงหากพบว่ามีผู้กระทำไม่ถูกต้อง และช่วยกันกีดกันคนไม่ดีให้ออกไปจากวงการ ซึ่งมาตรการนี้เป็นมาตรการการดำเนินการที่ไม่เป็นทางการ มีข้อสังเกตว่า มาตรการทางสังคมดังกล่าวข้างต้น มักใช้ได้ผลในสังคมวัฒนธรรมตะวันตก ส่วนในวัฒนธรรมสังคมของตะวันออก หากนำวิธีการนี้มาใช้ อาจจะพบอุปสรรคเรื่องระบบอุปถัมภ์ ทางแก้ไขคือจะต้องมีการปลูกฝังเรื่องอุดมการณ์วิชาชีพ การปกป้องและเทิดทูนเกียรติยศและเกียรติศักดิ์ของจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายให้มีเป้าหมายร่วมกันคือการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อองค์กร โดยมีการรวมตัวกันในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกันอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง เพื่อเทิดทูนและปกป้องวิชาชีพเดียวกันให้ยั่งยืน (PROFESSIONAL SOLIDARITY) โดย ก.ต. เองต้องเป็นผู้นำในการรณรงค์เรื่องนี้ เรื่องนี้ยากมากเพราะระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึกในจิตใจของคนไทยทั่วไปไม่ว่าจะเป็น   ผู้พิพากษาหรือมีอาชีพอื่นใด ซ้ำยังมีระบบซื้อเสียงขายเสียงมาเพิ่มเข้ามาอีกในภายหลัง แม้ยากมากก็น่าจะอยู่ในวิสัยที่แก้ไขได้ ถ้ามีแกนนำที่มีอุดมการณ์สูงและยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมเป็นสำคัญ และมีโอกาสทำต่อเนื่องกันเป็นเวลาช้านาน เรื่องนี้ต่างคนต่างทำไม่ได้ ไม้ซีกไม่อาจงัดไม้ซุกได้ฉันใด คนเดียวหัวเดียวกระเทียมลีบย่อมไม่อาจคัดง้างกับกฎหมู่ได้ฉันนั้น

- จะต้องมีการสร้างระบบการติดตามตรวจสอบองค์กร ทั้งภายในและภายนอกให้มีความเข้มแข็งโดยไม่กระทบต่อหลักความเป็นอิสระของศาล เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของการจัดตั้งคณะกรรมการคณะใดคณะหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ และควรมีการสร้างระบบให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการตรวจสอบในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย ควรศึกษาระบบการศาลของอังกฤษเพื่อการนี้ ซึ่งอาจนำมาปรับใช้ในระบบการศาลของไทยได้ (ให้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการปรับปรุงศาลยุติธรรมและข้อสังเกตลำดับขั้นตอนของกระบวนการควบคุมของอังกฤษ)

- ควรมีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อปรับปรุงระบบงานศาลยุติธรรมและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ

- ควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งคณะใดเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการให้การบริหารงานบุคคลของศาลมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อหลักการเรื่องความอิสระของศาล

- ผู้ที่ทำหน้าที่ด้านบริหารงานบุคคลขององค์กรวิชาชีพจะต้องมีความถนัด มีความรู้ด้านการบริหารงานบุคคล มีเวลาเพียงพอในการทำงาน ไม่มีงานอื่นหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งบ่อย เพราะทำให้ขาดความต่อเนื่องในการบริหาร

- ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบในการใช้อำนาจตุลาการโดยไม่ขัดต่อหลักการเรื่องความเป็นอิสระของศาล เช่น การช่วยในการสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา เพื่อเฝ้าระวังมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายกระทำผิดจริยธรรมวิชาชีพ

- เรื่องมารยาทในการนั่งพิจารณาคดีของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ควรจะสุภาพนุ่มนวล เห็นใจผู้เป็นความและทนายความ และพนักงานอัยการด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ดีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถ้วนทั่วทุกรายไป

- ควรมีการควบคุมและกำกับดูแลจริยธรรมของผู้ที่ทำหน้าที่ในกระบวนยุติธรรมที่เป็นวิชาชีพอัยการ
ผู้พิพากษาหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ให้เข้มงวดมากกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะหากเห็นว่าเป็นกรณีที่บุคคลนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ โดยองค์กรวิชาชีพจะต้องตระหนักถึงเรื่องการตรวจสอบให้มากขึ้น

- ต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ โดยองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังมากกว่าในปัจจุบัน เช่น หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาและอัยการจะต้องกระทำการตรวจสอบอย่างจริงจัง ไม่ใช่ตรวจสอบเพียงจดหมายรับรองเท่านั้น แต่ต้องตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกลงไปมากกว่านั้น และจะต้องมีการลงโทษและจัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิด

· ด้านการปรับปรุงระบบการส่งเสริมสนับสนุนจริยธรรมวิชาชีพ

- ควรมีกิจกรรมในการรณรงค์และส่งเสริม รวมทั้งการปลุกจิตสำนึกผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้มีความเข้มแข็งทางจริยธรรม การป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์และมีมาตรการบังคับใช้ให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

- ควรมีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ด้านจริยธรรมจากบุคคลต้นแบบด้านจริยธรรมวิชาชีพให้มากยิ่งขึ้น ผู้ใหญ่จะต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น

-ควรมีการเพิ่มการจัดทำฐานข้อมูล ความรู้ด้านจริยธรรมวิชาชีพให้มากยิ่งขึ้น ส่งเสริมและสนับสนุนการให้รางวัล มีการยกย่องเชิดชูแก่คนดีที่มีคุณธรรมจริยธรรมในวิชาชีพให้มากขึ้น และองค์กรวิชาชีพจะต้องแสดงให้เห็นว่าคนที่ไม่ดี ไม่มีจริยธรรมวิชาชีพ ไม่สามารถอยู่ได้ในองค์กร

-จัดให้มีการสัมมนา ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมากขึ้นเป็นประจำ รวมถึงการสอบและการอบรมวิชาชีพ ควรจัดให้มีเนื้อหาด้านจริยธรรมให้มากขึ้น

- จัดให้มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ร่วมกัน รวมถึงการประสานความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งภาคีในประเทศและต่างประเทศร่วมกันให้มากขึ้น เพราะการมองในมุมเดียว ระดับเดียวกัน อาจจะไม่สามารถเชื่อมโยงกับระดับที่แตกต่างกันหรือสอดคล้องกันหรืออาจจะทำได้ไม่ทั่วถึงกัน เพื่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย เกิดการพัฒนาบรรทัดฐาน การเรียนรู้ให้ทั่วถึงและกว้างขวางเกิดเป็นค่านิยม การปลูกฝัง ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม พฤติกรรมที่พึงประสงค์ในตัวคนและองค์กร

- จัดให้มีนโยบายและเพิ่มงบประมาณด้านการพัฒนาวิชาชีพให้มากขึ้น

- ผู้ตรวจการแผ่นดินและ ป.ป.ช. ควรมีบทบาทในการร่วมมือกันให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยดึงสถาบัน
การศึกษาทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อสังคมให้ความสำคัญ
กับเรื่องจริยธรรมกว้างขึ้นกว่าเดิม

- ควรมีมาตรการป้องกันปัญหา กล่าวคือจะต้องมีการรณรงค์เรื่องจริยธรรมวิชาชีพอย่างจริงจัง และการรณรงค์เช่นว่านี้ควรจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบและมีการกำหนดบทลงโทษด้วย โดยมาตรการการลงโทษจะต้องไม่มีแต่เพียงบทลงโทษทางอาญาเท่านั้น แต่จะต้องมีมาตรการอื่นเช่น มาตรการทางสังคม การไม่พูดด้วย ไม่สนใจ

- มาตรการในการบังคับใช้กฎหมายจะต้องชัดเจนว่าหากฝ่าฝืนแล้วจะมีผลอย่างไร จะต้องมีผลบังคับใช้และต้องมีผู้รักษากฎหมาย

- จะต้องมีการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนให้รวดเร็ว ไม่ล่าช้า และจะต้องเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเข้าถึงกระบวนการร้องเรียนได้โดยสะดวก เช่น อาจจัดให้มีศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย

-ในการรับเรื่องร้องเรียน หากเห็นว่า ควรรับเรื่องหรือไม่ควรรับเรื่องไว้พิจารณา ก็ควรจะมีการแจ้งให้ทราบและแสดงเหตุผล ซึ่งการร้องเรียนต่อหน่วยงาน จะไม่มีอายุความ เป็นดุลพินิจของหน่วยงานที่จะรับหรือไม่รับเรื่อง

- การฟ้องร้องคดีกับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่กระทำผิดจริยธรรมควรเหมือนกับการฟ้องศาลปกครองที่จะต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและควรมีการ็จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านคดีที่จะช่วยเหลือประชาชนต่อสู้กับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่กระทำความผิดจริยธรรมวิชาชีพ

- ควรมีบุคคลผู้ทำหน้าที่ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพอย่างจริงจัง

- ควรมีหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อควบคุม กำกับ ดูแลจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ซึ่งอาจจะจัดตั้งเป็นคณะกรรมการแห่งชาติ และผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการจะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ มีการนำเรื่องร้องเรียนมาตรวจสอบเบื้องต้น การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมการบังคับใช้ การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการร้องเรียนให้มีความรวดเร็ว เป็นต้น

- เนติบัณฑิตยสภาควรเพิ่มระบบการตรวจสอบสมาชิกให้มากขึ้น

- ควรมีการวางมาตรฐานกลางเพื่อรองรับการมาตรฐานวิชาชีพกฎหมายในระดับอาเซียน และควรมีประมวลจริยธรรมที่เป็นมาตรฐานกลาง รวมถึงการมีมาตรฐานกลางของทุกระดับการศึกษาจนเข้าสู่การประกอบวิชาชีพกฎหมาย

- ต้องปรับปรุงเปรียบเทียบและพัฒนาให้มีมาตรฐานจริยธรรมของวิชาชีพทางกฎหมายในกรอบเดียวกับนานาอารยประเทศ

- สำหรับการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือการเชื่อมโยงกฎหมาย โดยส่วนใหญ่ ประเทศไทยมักจะนำมาจากต่างประเทศ ดังนั้น ในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายก็ควรมีการนำมาพิจารณาประกอบด้วย

- ควรมีการปลูกฝังจริยธรรมให้กับประชาชนทุกอาชีพเพื่อให้เป็นฝ่ายที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมด้วย


· ข้อเสนอแนะอื่นๆ

- ควรให้ความสำคัญกับการให้เหตุผลของคำพิพากษาให้ชัดแจ้ง มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นกว่าปัจจุบัน

- ทนายความที่ดีไม่ควรแนะนำให้เป็นความกันเพื่อที่ตนเองจะได้เงินจากลูกความจนทำให้ลูกความต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการต่อสู้คดีจนลูกความหมดตัว ทนายความที่ดีควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องคิดว่า หากเราเป็นความเองจะเป็นอย่างไร ไม่ควรนำความไม่รู้กฎหมายของลูกความมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ศาลไม่ควรตัดสินคดี หากเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอคติในเรื่องนั้น แม้ว่าจะไม่มีใครทราบก็ตาม และควรถอนตัวออกจากการพิจารณาหากเห็นว่าจะทำให้สังคมเกิดการสงสัยในความเป็นกลาง แต่ไม่ต้องถึงขนาดถอนตัวจนหมดองค์คณะ หากเพราะผู้ร้องเรียนมีเจตนากลั่นแกล้งไม่ให้มีการพิจารณาคดีในเรื่องนั้น

- ทนายความเป็นองค์กรวิชาชีพที่ควรอยู่ในความกำกับดูแลของศาลด้วยเพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ 

- ควรสรรหาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูงมาเรียนกฎหมาย

-ควรมีการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมไว้ในระดับสูง เพราะว่าเป็นศักดิ์ศรีของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย และให้ความสำคัญกับเรื่องคุณค่าของวิชาชีพ

- ควรมีการเพิ่มวิชาด้านจิตวิทยาให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้มีการศึกษาและการฝึกภาคปฏิบัติ เพราะจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการวิเคราะห์แยกแยะเรื่องมูลเหตุจูงใจในการกระทำ เรื่องของการแยกแยะความถูกผิดของลูกความในคดี ทั้งนี้ประสบการณ์ของบุคคลแต่ละคนจะมีผลต่อการตัดสินวินิจฉัยชี้ขาดคดี

- ควรมีการเพิ่มการควบคุมกลุ่มที่ปรึกษากฎหมายด้วย เนื่องจากเป็นงานที่เกี่ยวกับกฎหมาย แต่ไม่อยู่ในการกำกับดูแลของสภาทนายความ

- ต้องปรับปรุงพื้นฐานความคิด (Platform of Thought) ของสังคมไทยโดยให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนเป็นไปได้โดยสะดวก ขจัดอุปสรรคและการคอร์รัปชั่นทางอำนาจที่เข้ามาก้าวก่ายงานยุติธรรม

- นักกฎหมายที่ดีต้องยึดหลักนิติธรรมหรือยึดกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่ยึดตัวบุคคลเป็นใหญ่ ยึดธรรมเป็นใหญ่ ถ้าไม่ยึดธรรม ถือว่ามีอคติ ข้อสำคัญคือนักกฎหมายเองต้องเข้าใจในหลักการของกฎหมาย



จากการวิเคราะห์ข้อมูลการให้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผลการระดมความคิดเห็นผู้เข้าร่วมสัมมนาจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2554 มีความเห็นสอดคล้องกันในหลักการดังนี้

1. แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านจริยธรรมจะต้องมองทั้งระบบ สภาพสังคม พื้นฐานครอบครัว เป็นภาพรวมใหญ่ คือ ควรมีการเริ่มต้นปลูกฝังจริยธรรม ตั้งแต่ยังเด็ก โดยเริ่มตั้งแต่การอบรมสั่งสอนในครอบครัว สถานศึกษา สถาบันอุดมศึกษาและองค์กรวิชาชีพ อย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกและการปลูกฝังอุดมการณ์ ความซื่อสัตย์สุจริต การมีวินัย สิทธิและหน้าที่ของพลเมือง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ

2. เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายละเมิดจริยธรรมในวิชาชีพหรือมีพฤติกรรมความเบี่ยงเบนไปจากเดิม อันเนื่องมาจากอิทธิพลของกระแสสังคมที่มีค่านิยมให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมและเงินตรา มากกว่าคุณค่าของจริยธรรม

นอกจากนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจะต้องมีจริยธรรมสูงกว่าบุคคลทั่วไป นื่องจากเป็นผู้ที่ ทำหน้าที่ในการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาท การระงับข้อพิพาท รักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม จึงจำเป็นต้องดำรงตนให้เป็นที่เชื่อมั่น ศรัทธา เป็นที่พึ่งแก่ประชาชน และมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในประเด็น   อื่น ๆ สรุปได้ดังนี้


1.ปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพ
พบว่ามีปัญหาเรื่องการขาดการติดตามตรวจสอบเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอยู่ในกรอบจริยธรรมอย่างเข้มแข็งขององค์กรวิชาชีพ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนงบประมาณในการสนับสนุนและพัฒนาจริยธรรมวิชาชีพ ปัญหาเรื่องความล่าช้าในการตัดสินคดี อันส่งผลกระทบต่อทั้งโจทก์และจำเลยในคดี ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ค่อนข้างสูง ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาเรื่องการขาดแคลนผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในกฎหมายเฉพาะทางซึ่งส่งผลให้การตัดสินคดีอาจขาดความเป็นธรรม และปัญหาเรื่องคุณภาพของคำวินิจฉัย


2.ข้อเสนอแนะ

- ควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประมวลจริยธรรมวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจ และเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย

- เนติบัณฑิตยสภาควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพ การปลูกฝังอุดมการณ์ด้านจริยธรรมวิชาชีพและการวางมาตรฐานกลาง

- ควรมีการกำหนดให้ผู้ที่จะมาสอบใบอนุญาตทนายความควรจบการศึกษาจากเนติบัณฑิตยสภาด้วย


ส่วนที่ 3 รายงานสรุปการประมวลผลจากแบบสอบถาม


คำชี้แจง

การนำเสนอข้อมูลแบบออกเป็น 6 ตอนได้แก่

ตอนที่ 1 ความคิดเห็นของประชาชน

ตอนที่ 2 ความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

ตอนที่ 3 ความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครอง

ตอนที่ 4 ความคิดเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ตอนที่ 5 ความคิดเห็นของอัยการ

ตอนที่ 6 ความคิดเห็นของทนายความ



** หมายเหตุ รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลข สถิติ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ระดับจริยธรรมของผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ โดยละเอียด จะปรากฏในรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้ คณะผู้วิจัยได้สรุปมาเพื่อใช้ประกอบการสัมมนาเท่านั้น

รายละเอียดมีดังนี้

ตอนที่ 1 ความคิดเห็นของประชาชน

1.1 ข้อมูลทั่วไปของประชาชนที่ตอบแบบสอบถาม

พบว่า ประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้ตอบแบบสอบถามในกรุงเทพมหานคร คิดเป็นร้อยละ 50.50 รองลงมาได้แก่ ผู้ตอบแบบสอบถามในจังหวัดเชียงใหม่คิดเป็นร้อยละ 22.50 ผู้ตอบแบบสอบถามในจังหวัดนครราชสีมาร้อยละ 16.00 และผู้ตอบแบบสอบถามในจังหวัดสงขลาร้อยละ 11.00 โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นผู้ชายร้อยละ 53.37 และผู้หญิงร้อยละ 46.63

ในส่วนของอายุพบว่า ประชาชนที่ตอบแบบสอบถามมีอายุระหว่าง 31 – 40 ปี และ 41 – 50 ปี มากที่สุด โดยแต่ละกลุ่มมีประชาชนร้อยละ 29.02 รองลงมาได้แก่ประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ร้อยละ 27.98 และประชาชนที่มีอายุสูงกว่า 51 ปี มีจำนวนน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 13.99

ในส่วนของระดับการศึกษาพบว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 63.35 รองลงมาได้แก่ระดับปริญญาโท ร้อยละ 18.32 ต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 16.75 จบเนติบัณฑิตร้อยละ 1.05 และจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ร้อยละ 0.52

ในส่วนของรายได้เฉลี่ยพบว่า ประชาชนที่ตอบแบบสอบถามมีรายได้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือนเป็นจำนวนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 36.56 รองลงมาได้แก่ ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 24.73 มีรายได้อยู่ระหว่าง 20,001 – 30,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 20.43 มีรายได้อยู่ระหว่าง 30,001 - 40,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 11.29 และมีรายได้สูงกว่า 40,000 บาท ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 6.99

ในส่วนของภูมิลำเนาพบว่า ประชาชนที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคกลางร้อยละ 28.72 รองลงมาได้แก่ภาคเหนือ ร้อยละ 26.15 ภาคใต้ ร้อยละ 25.64 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 19.49 ตามลำดับ ทั้งนี้ประชาชนที่ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่ใช้บริการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามากกว่า 5 ครั้งขึ้นไป มีจำนวนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 39.25 รองลงมาคือ ไม่ได้ใช้บริการร้อยละ 31.72 และ ใช้บริการอยู่ระหว่าง 1 – 5 ครั้ง ร้อยละ 29.03 ตามลำดับ

1. 2 ความคิดเห็นของประชาชนต่อจริยธรรมของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม
พบว่า ประชาชนเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า ผู้พิพากษามีความรู้ความสามารถในการตัดสินวินิจฉัย ชี้ขาดคดีมากที่สุด ร้อยละ 93.30 รองลงมาได้แก่ ผู้พิพากษามีคำวินิจฉัยที่ตรงตามประเด็นแห่งคดีให้เหตุผลแจ้งชัดและสามารถปฏิบัติตามนั้นได้ ร้อยละ 89.85 ผู้พิพากษาตรวจสำนวนความและตระเตรียมการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้พร้อมออกนั่งพิจารณาตรงตามเวลาและไม่เลื่อนการพิจารณาโดยไม่จำเป็น ร้อยละ 87.88 ซึ่งเท่ากับเมื่อจะพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีเรื่องใด ท่านเห็นว่าผู้พิพากษาวางตัวเป็นกลาง ไม่มีอคติกับคู่ความหรือคดีความเรื่องนั้น ทั้งวินิจฉัยคดีโดยไม่ชักช้า และไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด

และประชาชนไม่เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า ท่านเคยพบว่าผู้พิพากษายินยอมให้บุคคลในครอบครัวก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตน หรือของผู้อื่น และยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ มากที่สุด ร้อยละ 88.27 รองลงมาได้แก่ ท่านเคยพบว่าผู้พิพากษารับเป็นผู้จัดการมรดก ผู้จัดการทรัพย์สินหรือผู้ปกครองทรัพย์ ที่มิใช่เป็นกรณีของตัวผู้พิพากษานั้นเอง หรือเป็นของคู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของตนหรือญาติสืบสายโลหิตหรือเกี่ยวพันทางแต่งงาน ซึ่งผู้พิพากษาถือเป็นญาติสนิท มีส่วนได้เสียในมรดกหรือทรัพย์นั้นโดยตรง ร้อยละ 87.88 และท่านเคยพบว่า ผู้พิพากษาร้องเรียน กล่าวหา ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรโดยใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น อีกทั้งการร้องเรียน กล่าวหา ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีแก่บุคคลหนึ่ง บุคคลใดโดยอาศัยประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ ร้อยละ 87.76


1.3 ความคิดเห็นของประชาชนต่อจริยธรรมของข้าราชการฝ่ายอัยการ

พบว่า ประชาชนเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า ท่านเห็นว่าข้าราชการฝ่ายอัยการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง มากที่สุด ร้อยละ 80.81 รองลงมาได้แก่ ประชาชนเห็นด้วยกับข้อความที่ว่าท่านเห็นว่าข้าราชการฝ่ายอัยการยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมซื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบ ร้อยละ 79.40 เท่ากับ ท่านเห็นว่าข้าราชการฝ่ายอัยการยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรมและถูกกฎหมาย และท่านเห็นว่าข้าราชการฝ่ายอัยการยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ร้อยละ 78.79

ประชาชนไม่เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า ท่านเคยพบว่าข้าราชการฝ่ายอัยการยินยอมให้บุคคลในครอบครัวก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือของผู้อื่นและยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ มากที่สุด ร้อยละ 78.39 รองลงมาได้แก่ ท่านเคยพบว่าข้าราชการฝ่ายอัยการ ไม่รักษาความลับของทางราชการและเปิดเผยความลับแก่บุคคลใดซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะล่วงรู้ความลับนั้น ร้อยละ 76.38 และท่านเห็นว่าข้าราชการฝ่ายอัยการไม่รักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์แห่งวิชาชีพและจริยธรรมอย่างเคร่งครัด ร้อยละ 68.02

1.4 ความคิดเห็นของประชาชนต่อจริยธรรมของทนายความ

พบว่า ประชาชนเห็นด้วยกับข้อความที่ว่าท่านคิดว่าทนายความส่วนใหญ่คิดอัตราค่าจ้างว่าความแพงเกินสมควร จนเข้าข่ายเป็นการค้าความ มากที่สุด ร้อยละ 56.63

รองลงมาได้แก่ ท่านเคยพบทนายความใช้อุบายหลอกลวงให้ลูกความหลงเข้าใจผิดว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อรู้อยู่ว่าคดีนั้นลูกความจะแพ้คดี เพื่อจูงใจให้ลูกความ มอบคดีให้ว่าต่าง หรือแก้ต่าง ร้อยละ 56.19

ท่านเคยพบทนายความใช้อุบายหลอกลวงอวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความคนอื่นเพื่อจูงใจให้ลูกความมอบคดีให้ว่าต่าง หรือแก้ต่าง ร้อยละ 52.06

และประชาชนไม่เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า ท่านเคยพบทนายความแย่ง หรือทำการใดในลักษณะประมูลคดีที่มีทนายความอื่นว่าต่างแก้ต่างอยู่ แล้วมาว่า หรือรับ หรือสัญญาว่าจะรับว่าต่าง แก้ต่างในคดีที่ รู้ว่ามีทนายความอื่นว่าอยู่แล้ว มากที่สุด ร้อยละ 76.02

รองลงมาได้แก่ ท่านเคยพบทนายความประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่น ประกาศโฆษณาใด ๆดังต่อไปนี้: (15.1) อัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ ร้อยละ 75.38 และท่านเคยพบทนายความกระทำการใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือมีพฤติกรรมเรียกเงินทั้งสองข้าง (ตระบัดสิน) จากลูกความ หรือครอบครอง หรือหน่วงเหนี่ยวเงินหรือทรัพย์สินของลูกความที่ทนายความได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความ ร้อยละ 71.79 ทั้งนี้ได้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมคือ ทนายตอนรับเงินพูดดีทุกอย่างพอลงมือทำงานหละหลวม

1.5 ระดับจริยธรรมของผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ ตามความคิดเห็นของประชาชน

พบว่า ระดับจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของประชาชน มากที่สุด           ผู้พิพากษามีคะแนนเท่ากับ 81.09 รองลงมาได้แก่ อัยการ มีคะแนนเท่ากับ 74.99 และทนายความ      มีคะแนนเท่ากับ 61.50

1. 6 ความคิดเห็นต่อสาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพตามความคิดเห็นของประชาชน
พบว่า ประชาชนคิดว่าสาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพ มากที่สุด ได้แก่ การขาดปลูกฝังอุดมการณ์ จิตสำนึกที่ดีและการขาดการให้ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพอย่างลึกซึ้ง คิดเป็นร้อยละ 65.83

รองลงมาได้แก่ การไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์ ค่านิยมและวัฒนธรรมของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับวัตถุ เงิน อำนาจ มากกว่าการรักษาคุณค่าจริยธรรมในวิชาชีพ คิดเป็นร้อยละ 65.66 และการแทรกแซงการวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือการเมือง คิดเป็นร้อยละ 65.33

น้อยที่สุดได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพขาดการจำแนกหมวดหมู่ที่เข้าใจง่าย มีความซับซ้อน หรือขาดหมวดหมู่ที่ควรจะระบุไว้ให้ชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 31.31 รองลงมาได้แก่ เนื้อหาสาระที่กำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพมีมากเกินไปและไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 33.17 และการขาดการจัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพที่สมบูรณ์ อันส่งผลให้เกิดการขาดการเรียนรู้เพื่อลดข้อผิดพลาดในระบบ คิดเป็นร้อยละ 38.69 ทั้งนี้ได้มีความคิดเห็นเพิ่มเติมได้แก่

1. กระบวนการยุติธรรมไม่ได้เรื่องทั้งระบบ

2. การลงโทษขององค์คณะที่เห็นว่ามีความผิดชัดแจ้งนั้นยังไม่สาสมกับความผิดเช่นคดีค้ายาบ้าลงโทษอัตราน้อย พอพ้นโทษแล้วก็กลับมากระทำความผิดอีก

3. ขาดการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆอย่างเคร่งครัด ขาดการอบรมจริยธรรมวิชาชีพกฏหมายอย่างเข้มข้น เข้มแข็ง ควรกำหนดกฎหมายให้เป็นหมวดหมู่ สะดวกในการค้นหา

4. ควรลดค่านิยมว่าเมื่อเป็นทนาย อัยการ หรือศาล ต้องนั่งรถหรู หรือมีแหวนหรือมีสร้อยประดับร่างกายมากเกินไป

5. ปัญหาต่างตอบแทนผู้มีอิทธิพลฝากมา

6. เปิดการอบรมในหลักสูตรอื่นและแทรกจริยธรรมเพราะว่าถ้าเปิดอบรมหลักสูตรจริยธรรมอย่างเดียวคงไม่มีใครมาอบรม

7. ผู้ประกอบวิชาชีพขาดอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อสังคม

8. มีแต่ทนายหิวเงิน

9. ไม่ได้รับการอบรมให้ลึกซึ้งในด้านศีลธรรม ไม่มีการทดสอบศีลธรรมและไม่มีระบบปลายน้ำเรียกศีลธรรมอยู่บ่อยๆ

10.อาจจะเกิดจากปัญหาการเงิน ปัญหาครอบครัว

11.อ่านแล้วเข้าใจยาก

1.7 ผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย

ประชาชนเห็นว่า มากที่สุด ได้แก่ คนไม่เชื่อในระบบยุติธรรม และผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ร้อยละ 43.40

รองลงมาได้แก่ ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม คนถูกเป็นผิด ทำให้คนผิดเป็นถูก ร้อยละ 17.92

การเห็นความสำคัญของจริยธรรมน้อยลง มีค่านิยมในทางวัตถุนิยม ทำทุกอย่างเพื่อเงิน ใช้ระบบพวกพ้อง ร้อยละ 14.15

1.8 ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนต่อกลไกควบคุมพฤติกรรม

-เห็นว่า เหมาะสมแล้ว ร้อยละ 80.22 และ ไม่เหมาะสม ร้อยละ 19.78

พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกในการควบคุมพฤติกรรม มากที่สุด คือเมื่อทำผิดไม่ได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสม กฎหมายยังอ่อนไป การลงโทษน้อยและไม่เด็ดขาด ร้อยละ 10.99 เท่ากับควรมีมาตราลงโทษที่เหมาะสม เด็ดขาด เพิ่มบทลงโทษและถูกลงโทษอย่างเหมาะสม

รองลงมาได้แก่ จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายขึ้นอยู่กับจิตใต้สำนึกของแต่ละบุคคล พื้นฐานของครอบครัว ร้อยละ 8.79 และเคร่งครัดให้มากกว่านี้ ใช้ข้อกฎหมายอย่างจริงจัง และชัดเจน ร้อยละ 7.69

1.9 ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของประชาชนต่อผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย

พบว่า ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของประชาชนต่อผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย มากที่สุด ได้แก่ ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม ร้อยละ 24.21

รองลงมาได้แก่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และซื่อตรง รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และ มีความยุติธรรมเพื่อสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชน ร้อยละ 21.05

ผู้ประกอบวิชาชีพควรมีจิตใจแน่วแน่ และมีสามัญสำนึกในการทำหน้าที่ ตลอดจนปฏิบัติตาม คำปฏิญาณที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร้อยละ 16.84

ตอนที่ 2 ความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

2.1 ข้อมูลทั่วไปของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ตอบแบบสอบถาม

พบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทำงานในเขตกรุงเทพมหานครมากที่สุด ร้อยละ 60.00 รองลงมาได้แก่ เชียงใหม่ ร้อยละ 27.50 นครราชสีมา ร้อยละ 7.50 และสงขลา ร้อยละ 5.00

ในส่วนของเพศพบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย ร้อยละ 57.58 และเพศหญิง ร้อยละ 42.42

ในส่วนของอายุพบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ตอบแบบสอบถามมีอายุระหว่าง 41-50 ปี มากที่สุด ร้อยละ 45.95 รองลงมาได้แก่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่มีอายุระหว่าง 31-40ปี ร้อยละ 29.73
ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป ร้อยละ 21.62 และผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่มีต่ำกว่า 30 มีจำนวนน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 2.70

ในส่วนของระดับการศึกษาสูงสุดพบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ตอบแบบสอบถาม มีระดับการศึกษา ระดับปริญญาโท ร้อยละ 59.46 และปริญญาตรี ร้อยละ 40.54

2.2 อายุราชการของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ตอบแบบสอบถาม

พบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง มีอายุราชการ เฉลี่ย 15.54 ปี

2.3 ผลการประเมินระดับการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพตามหัวข้อที่กำหนดว่าเป็นเรื่องสำคัญในระดับใด (ร้ายแรงมากไปหาน้อย)

· ระดับความสำคัญต่อจริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางอรรถคดีตามความคิดเห็นของ

ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม


พบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าประเด็นที่มีความสำคัญต่อจริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางอรรถคดีโดยมีความร้ายแรงในระดับมากโดยเรียงลำดับตามระดับความร้ายแรงจากมากไปน้อยดังนี้

ข้อ 4.ในการนั่งพิจารณาคดี ผู้พิพากษาไม่วางตนเป็นกลาง

ข้อ 6 ไม่ฟังความจากคู่ความและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างตั้งใจ ไม่ให้ความเสมอภาค และ ไม่มีเมตตาธรรม

ข้อ 7.ผู้พิพากษาไม่พิจารณาคดีโดยไตร่ตรอง สุขุม รอบคอบ และชักช้า

ข้อ 13.ในการเปรียบเทียบและไกล่เกลี่ยคดี ผู้พิพากษามีพฤติการณ์ให้จำเลยรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ

ข้อ 21.การวินิจฉัยคดีมีความชักช้า

ข้อ 5.ไม่สำรวมตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่

ข้อ 9.ใช้บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาล โดยขาดความระมัดระวังและลุแก่โทสะ

ข้อ 22.ผู้พิพากษามีคำวินิจฉัยที่ไม่ตรงตามประเด็นแห่งคดี ไม่ให้เหตุผลแจ้งชัดและ ไม่สามารถปฏิบัติตามนั้นได้

ข้อ 14.ในการเปรียบเทียบและไกล่เกลี่ยคดี ผู้พิพากษามีพฤติการณ์ทำให้คู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งระแวงว่า ผู้พิพากษาฝักใฝ่ช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

ข้อ 3.เลื่อนการพิจารณาโดยไม่จำเป็น

ข้อ 12.ในการเปรียบเทียบและไกล่เกลี่ยคดี ผู้พิพากษามีพฤติการณ์ให้คำมั่นหรือบีบบังคับให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่ายยอมรับข้อเสนอใด ๆ

ข้อ 10.กล่าวถึงข้อเท็จจริงในคดีที่อาจกระทบกระเทือนต่อบุคคลใด หรือวิจารณ์หรือ ให้ความเห็นแก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือกำลังจะขึ้นสู่ศาล

ข้อ 16.ผู้พิพากษาไม่บันทึกเฉพาะข้อความในประเด็นข้อพิพาท หรือเกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาท และไม่ได้สาระถูกต้องครบถ้วนตามคำเบิกความ

ข้อ 18.ในการปรึกษาคดี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่ตระเตรียมคดีนั้นล่วงหน้าอย่างถี่ถ้วน และไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อองค์คณะอย่างถูกต้องครบถ้วน

ข้อ 20.ผู้พิพากษาที่ร่วมกันพิจารณาคดีไม่เคารพในความคิดเห็นและเหตุผลของกันและกัน เพื่อให้ได้คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ถูกต้องและเที่ยงธรรม

ส่วนประเด็นที่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเห็นว่ามีความร้ายแรงในระดับปานกลางโดยเรียงลำดับตามระดับความร้ายแรงจากมากไปน้อยดังนี้

ข้อ 17.ผู้พิพากษาไม่บันทึกคำแถลงและรายงานกระบวนพิจารณาให้ชัดแจ้งและตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

ข้อ 19.ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะไม่ร่วมพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและเหตุผลประกอบ

ข้อ 24.ผู้พิพากษาไม่ถอนตัวจากการพิจารณาและพิพากษาคดี เมื่อมีเหตุที่ตนเองอาจถูกคัดค้านได้ตามกฎหมาย หรือมีเหตุประการอื่นเกี่ยวกับตัว ผู้พิพากษา อันอาจทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมและกระทำการใดอันเป็นการจูงใจให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นในภายหลังในประการที่จะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรม

ข้อ 2.ไม่ออกนั่งพิจารณาตรงตามเวลา

ข้อ 8.ไม่ควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ข้อ 1.ผู้พิพากษาไม่ตรวจสำนวนความและตระเตรียมการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้ให้พร้อม

ข้อ 23.ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้พิพากษาไม่ควบคุมให้การออกหมายหรือ คำบังคับ ตรงตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และไม่ออกโดยพลัน

ข้อ 11.มีการถ่ายภาพ ภาพยนตร์ บันทึกภาพหรือเสียง หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันในการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีของศาล โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค และอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขึ้นไปเป็นการเฉพาะ

ข้อ 15.ผู้พิพากษาไม่ระลึกว่าการนำพยานหลักฐานเข้าสืบและการซักถามพยานควรเป็นหน้าที่ของคู่ความและทนายความของแต่ละฝ่ายที่จะกระทำ

** หมายเหตุ เลขหัวข้อ กำหนดตรงตามต้นฉบับแบบสอบถามที่มีการประเมิน

· ระดับความสำคัญต่อปฏิบัติหน้าที่ในทางธุรการตามความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

พบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าประเด็นที่มีความสำคัญต่อเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางธุรการที่มีความร้ายแรงอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่

ข้อ 30.ผู้พิพากษาไม่รักษาความลับของทางราชการ

ข้อ 27.ผู้พิพากษาไม่ปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาด้วยความเที่ยงธรรม และควบคุมให้
ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามวินัยและจริยธรรมโดยเคร่งครัด

ข้อ 29.เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดทางวินัยของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาขึ้น
ผู้พิพากษาไม่รายงานผู้บังคับบัญชา

ข้อ 28.ผู้พิพากษาไม่สนับสนุน ส่งเสริมผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่ซื่อสัตย์สุจริต

ข้อ 25.ผู้พิพากษาไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อย่างเต็มความสามารถ และไม่ควบคุมให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อย่างเต็มความสามารถ

ทั้งนี้มีเฉพาะข้อ 26 ผู้พิพากษาไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา และตามลำดับชั้นของการบังคับบัญชา เท่าที่มีผู้พิพากษาเห็นว่ามีความร้ายแรงในระดับปานกลาง

· ระดับความสำคัญต่อจริยธรรมเกี่ยวกับกิจการอื่นตามความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม


พบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าประเด็นที่มีความสำคัญต่อจริยธรรมเกี่ยวกับกิจการอื่น ที่มีความร้ายแรงอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่

ข้อ 31.ผู้พิพากษาเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษาหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือธุรกิจของเอกชน ซึ่งเป็นกิจการที่แสวงหากำไรหรือประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใดอันจะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา

ข้อ 32.ผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวกับหน่วยราชการซึ่งกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือมติของ ก.ต. ระบุไว้เป็นอย่างอื่น

ข้อ 40.ผู้พิพากษาเป็นกรรมการ สมาชิก หรือ เจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง และ เข้าเป็นตัวกระทำการ ร่วมกระทำการสนับสนุนในการโฆษณาหรือชักชวนใดๆ ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาหรือผู้แทนทางการเมืองอื่นใด

ข้อ 33.ผู้พิพากษาแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือเข้าร่วมสัมมนาอภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา และกระทำการดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ

ข้อ 41.ผู้พิพากษากระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะอนุกรรมการบริหารศาลยุติธรรม คณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผู้บังคับบัญชา ในประการที่อาจทำให้ขาดความเป็นอิสระ หรือเสียความยุติธรรมได้

ข้อ 37.ผู้พิพากษารับแต่งตั้งเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีหรือรับเป็นผู้เรียง ผู้เขียน ผู้พิมพ์ คำคู่ความ คำร้อง คำขอ หรือคำแถลงในคดีใดๆ

ข้อ 38.ผู้พิพากษารับปรึกษาคดีความ และรับเป็น ผู้ร่าง ผู้เขียน ผู้พิมพ์ หรือพยานในพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นใด ไม่ว่าเพื่อสินจ้างรางวัลหรือไม่ซึ่งไม่ใช่เป็นกรณีที่ตัวผู้พิพากษาเอง คู่สมรส ผู้บุพการี
ผู้สืบสันดานของตน หรือญาติ สืบสายโลหิตหรือเกี่ยวพันทางแต่งงานซึ่งผู้พิพากษา ถือเป็นญาติสนิท มีส่วนได้เสียในคดีหรือเรื่องนั้นโดยตรง

ข้อ 34.ผู้พิพากษาให้ข่าวหรือข้อเท็จจริงในทางราชการของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับทางราชการของศาลยุติธรรมหรือสำนักงานศาลยุติธรรม โดยไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการให้ข่าวหรือข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือสำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด

ส่วนประเด็นที่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเห็นว่ามีความร้ายแรงในระดับปานกลางโดยเรียงลำดับตามระดับความร้ายแรงจากมายไปน้อยมีดังนี้

ข้อ 35.ผู้พิพากษาเป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม สโมสร ชมรม หรือองค์การใด ๆ หรือเข้าร่วมในกิจการใด ๆ อันจะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา

ข้อ 36.ผู้พิพากษารับเป็นผู้จัดการมรดก ผู้จัดการทรัพย์สิน หรือผู้ปกครองทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ตัว ผู้พิพากษาเอง คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของตน หรือญาติสืบสายโลหิต หรือเกี่ยวพันทางแต่งงาน ซึ่ง ผู้พิพากษาถือเป็นญาติสนิทมีส่วนได้เสียในมรดก หรือทรัพย์นั้นโดยตรง

ข้อ 39.ผู้พิพากษารับเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือ ผู้ประนอมข้อพิพาท


** หมายเหตุ เลขหัวข้อ กำหนดตรงตามต้นฉบับแบบสอบถามที่มีการประเมิน


· ระดับความสำคัญต่อจริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตนและครอบครัวตามความคิดเห็นของ

ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม


หัวข้อ จริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตนและครอบครัว
42.ผู้พิพากษาไม่เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

43.ผู้พิพากษาร้องเรียน กล่าวหา ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร หรือดำเนินคดีแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยอาศัยประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่

ของตน

44.ผู้พิพากษาก้าวก่ายแทรกแซงหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการปฏิบัติหน้าที่ของ ผู้พิพากษาอื่นหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ผู้พิพากษาอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดี

45.ผู้พิพากษายินยอมให้บุคคลในครอบครัว ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตน หรือของผู้อื่น และยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ

46.ผู้พิพากษาไม่ยึดมั่นในระบบคุณธรรม และแสวงหาตำแหน่ง หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบจากผู้บังคับบัญชา หรือจากบุคคลอื่นใด

47.ผู้พิพากษาขอรับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอกในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลยุติธรรม

48.ผู้พิพากษาไม่ระมัดระวังให้การประกอบวิชาชีพหรือการงานอื่นใดของคู่สมรส ญาติหรือบุคคลในครอบครัวมีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา

49.ผู้พิพากษาและคู่สมรสรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ จากคู่ความหรือจากบุคคลอื่นใดอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา หรือรับของขวัญอันมีมูลค่าเกินกว่าที่พึงให้กันตามอัธยาศัยและประเพณีในสังคม

50.ผู้พิพากษาคบหาสมาคมกับคู่ความ หรือบุคคลอื่น ซึ่งมีส่วนได้เสีย หรือผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคดีความ หรือบุคคลซึ่งมีความประพฤติ หรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจจะกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไปในการประสาทความยุติธรรมของ ผู้พิพากษา

** หมายเหตุ เลขหัวข้อ กำหนดตรงตามต้นฉบับแบบสอบถามที่มีการประเมิน

พบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าประเด็นที่มีความสำคัญต่อจริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตนและครอบครัวโดยทุกประเด็นในส่วนนี้มีความร้ายแรงในระดับมากทั้งหมด โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้

ข้อ 46.ผู้พิพากษาไม่ยึดมั่นในระบบคุณธรรม และแสวงหาตำแหน่ง หรือประโยชน์อื่นใดโดย มิชอบจากผู้บังคับบัญชา หรือจากบุคคลอื่นใด

ข้อ 44.ผู้พิพากษาก้าวก่ายแทรกแซงหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการปฏิบัติหน้าที่ของ          ผู้พิพากษาอื่นหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ผู้พิพากษา     อื่นในการพิจารณาพิพากษาคดี

ข้อ 49.ผู้พิพากษาและคู่สมรสรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ จากคู่ความหรือจากบุคคลอื่นใดอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา หรือรับของขวัญอันมีมูลค่าเกินกว่าที่พึงให้กันตามอัธยาศัยและประเพณีในสังคม

ข้อ 45.ผู้พิพากษายินยอมให้บุคคลในครอบครัว ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตน หรือของผู้อื่น และยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ

ข้อ 47.ผู้พิพากษาขอรับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอกในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลยุติธรรม

ข้อ 50.ผู้พิพากษาคบหาสมาคมกับคู่ความ หรือบุคคลอื่น ซึ่งมีส่วนได้เสีย หรือผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคดีความ หรือบุคคลซึ่งมีความประพฤติ หรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจจะกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไปในการประสาทความยุติธรรมของ ผู้พิพากษา

ข้อ 43.ผู้พิพากษาร้องเรียน กล่าวหา ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร หรือดำเนินคดีแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยอาศัยประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ของตน

ข้อ 42.ผู้พิพากษาไม่เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ข้อ 48.ผู้พิพากษาไม่ระมัดระวังให้การประกอบวิชาชีพหรือการงานอื่นใดของคู่สมรส ญาติหรือบุคคลในครอบครัวมีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา

· ภาพรวมระดับความสำคัญของจริยธรรมของผู้พิพากษาในแต่ละด้าน

พบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญของจริยธรรมของผู้พิพากษาพบว่าในแต่ละด้านต่างมีระดับความร้ายแรงในระดับมากทั้งหมด โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ด้านการดำรงตนและครอบครัวมากที่สุด รองลงมาได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ในทางธุรการ และกิจการอื่น โดยในด้านการปฏิบัติหน้าที่ในทางอรรถคดีมีระดับความร้ายแรงน้อยที่สุด

2.4 สาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

พบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเห็นว่าสาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย มากที่สุด คือ การขาดปลูกฝังอุดมการณ์ จิตสำนึกที่ดีและการขาดการให้ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพอย่างลึกซึ้งร้อยละ
55.00 เท่ากับ การไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์ ค่านิยมและวัฒนธรรมของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับวัตถุ เงิน อำนาจ มากกว่าการรักษาคุณค่าจริยธรรมในวิชาชีพ รองลงมาได้แก่ การมีแบบอย่างที่ไม่ดีในวงการวิชาชีพกฎหมาย หรือผู้ที่ประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพไม่ได้รับการลงโทษ ร้อยละ 45.00 และการแทรกแซงการวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือการเมือง ร้อยละ 35.00 ทั้งนี้มีความคิดเห็นเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

1. การส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้ฝ่าฝืนดำรงตำแหน่งหรือได้รับสิทธิประโยชน์ที่สูงขึ้นกว่า
ผู้ปฏิบัติตามจริยธรรมโดยปกติ

2. ต้องนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินบุคคลและรายงานการปฏิบัติราชการ ของข้าราชการตุลาการประจำปีมาตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม อย่างเคร่งครัดหากผู้ประเมิน ประเมินเท็จก็ควรลงโทษทางวินัย

3. ปัญหาต่างๆด้านจริยธรรมเกิดขึ้นกับองค์กรผู้พิพากษาค่อนข้างน้อยเนื่องจากมีระบบตรวจสอบ

ที่เข้มแข็งและมีการลงโทษให้ออกโดยไม่ต้องใช้หลักฐานอย่างแน่นอนเหมือนวงการอื่นแต่อย่างไรก็ดีการครองตนของผู้พิพากษาย่อมมีบางท่านไม่มีภูมิคุ้มกันทางจิตหรือไม่เคยฝึกฝนจึงไหลไปตามกระแสโลกของปุถุชนโดยทั่วไป แต่มีน้อยมาก

4. ระบบคัดเลือกผู้ที่รับสมัครสอบในตำแหน่งผู้พิพากษาต้องเข้มแข็ง

5. องค์กรไม่จัดการกับผู้พิพากษาที่ทุจริตหรือที่ไม่ทำงานอย่างเด็ดขาด ผู้พิพากษาหากทุจริตหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ควรลงโทษด้วยการให้ออกหรือไล่ออก ไม่ควรใช้บทลงโทษสถานเบา เช่น ตักเตือน หรือภาคทัณฑ์ หรือลดขั้นเงินเดือน

6. อยู่ที่ตัวบุคลของแต่ละคนมากกว่า

2.5 ผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

พบว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมคิดว่าผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย มากที่สุดคือ คนไม่เชื่อในระบบยุติธรรม และผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ร้อยละ 81.48 รองลงมาได้แก่ ทำให้สังคมแตกแยก เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เกิดการชุมนุมเรียกร้อง ร้อยละ 14.81 และสังคมขาดความมั่นคง บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย คนไม่กลัวกฎหมาย เกิดการคอรัปชั่น ประชาชนเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประเทศชาติ ร้อยละ 11.11

2.6 ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลไกการควบคุมความประพฤติตามความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

- เห็นว่า เหมาะสมแล้ว ร้อยละ 85.00 และไม่เหมาะสม ร้อยละ 15.00

ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมีข้อเสนอแนะต่อกลไกการควบคุมความประพฤติ ดังนี้ เลิกการช่วยเหลือกันในวงการของตนเอง ใช้อำนาจ อิทธิพล อุปถัมภ์ มากที่สุด ร้อยละ 20.00 เท่ากับเคร่งครัดให้มากกว่านี้ ใช้ข้อกฎหมายอย่างจริงจัง และชัดเจน

รองลงมาได้แก่ มีการตรวจสอบควบคุมที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น จัดตั้งคณะกรรมการหรือกระทรวงในการตรวจสอบช่วยเหลือและให้ความรู้เรื่องกฎหมายและร้องเรียนแก่ประชาชน ไม่ให้บุคลากรในองค์กรเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ ร้อยละ 15.00 เท่ากับ มีมาตราลงโทษที่เหมาะสม เด็ดขาด เพิ่มบทลงโทษและถูกลงโทษอย่างเหมาะสม

จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายขึ้นอยู่กับจิตใต้สำนึกของแต่ละบุคคล พื้นฐานของครอบครัว เท่ากับ เลิกการรับสินบน มีประโยชน์ทับซ้อนหน้าที่ของตน การเอาเปรียบผู้รู้น้อยกว่า ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม ไม่รักษาจริยธรรม ร้อยละ 10.00

2.7 ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ตามความคิดเห็นของของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

ผู้พิพากษาเห็นว่าข้อเสนอแนะอื่น ๆ คือควรมีการอบรมจริยธรรมอย่างเข้มข้นให้กับนักกฎหมายอยู่เสมอ ควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ภายในองค์กรถึงกรณีตัวอย่างและบทลงโทษ รวม ร้อยละ 29.41

รองลงมาได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพควรมีจิตใจแน่วแน่ และมีสามัญสำนึกในการทำหน้าที่ ตลอดจนปฏิบัติตามคำปฏิญาณที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร้อยละ 17.65 และควรมีการส่งเสริมให้ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายปฏิบัติธรรม ร้อยละ 11.76 เท่ากับปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ชี้ให้เห็นโทษของการกระทำผิดและให้ศรัทธาในวิชาชีพ ควรมีการบังคับใช้กลไกควบคุมจริยธรรมอย่างเคร่งครัด และควรมีโทษต่อการกระทำผิดต่อจริยธรรมด้านวิชาชีพที่รุนแรง

ตอนที่ 3 ความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครอง

3.1 ข้อมูลทั่วไปของตุลาการศาลปกครองที่ตอบแบบสอบถาม

พบว่า ตุลาการศาลปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นผู้ตอบในกรุงเทพมหานคร มากที่สุด ร้อยละ 55.00

รองลงมาได้แก่ นครราชสีมา ร้อยละ 20.00 สงขลา ร้อยละ 15.00 และเชียงใหม่ ร้อยละ 10.00 ในส่วนของเพศพบว่า ผู้พิพากษาศาลปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย ร้อยละ 85.00 และ เพศหญิง ร้อยละ 15.00

ในส่วนของอายุพบว่า ตุลาการศาลปกครองที่ตอบแบบสอบถาม มีอายุ 51 ปีขึ้นไป มากที่สุด ร้อยละ 65.00 รองลงมาได้แก่ ตุลาการศาลปกครองที่มีอายุระหว่าง 41-50 ปี ร้อยละ 35.00

ในส่วนของระดับการศึกษาสูงสุดพบว่า ตุลาการศาลปกครองที่ตอบแบบสอบถาม มีระดับการศึกษา ระดับปริญญาโท มากที่สุด ร้อยละ 80.00 และปริญญาตรี ร้อยละ 15.00 ปริญญาเอก ร้อยละ 5.00

3.2 ผลการประเมินระดับการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพตามหัวข้อที่กำหนดว่าเป็นเรื่องสำคัญใน

ระดับใด (ร้ายแรงมากไปหาน้อย)


พบว่า ตุลาการศาลปกครองที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าประเด็นที่มีความสำคัญต่อจริยธรรมที่มีความร้ายแรงในระดับมากที่สุด โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่

ข้อ 1 การไม่อำนวยความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง

ข้อ 7 เมื่อจะพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีเรื่องใด ตุลาการศาลปกครองไม่ละวางอคติทั้งปวงเกี่ยวกับคู่กรณีหรือคดีเรื่องนั้น ทั้งวินิจฉัยคดีชักช้า

ข้อ 3 ในการไต่สวนและการนั่งพิจารณาคดี ตุลาการศาลปกครองไม่วางตนเป็นกลาง

ข้อ 2 ในพิจารณาคดี ขาดการไตร่ตรอง สุขุม รอบคอบ และการพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความล่าช้า

ข้อ 12 ตุลาการศาลปกครองกระทำการ ร่วมกระทำการ หรือสนับสนุนในการโฆษณาหาเสียง หรือชักชวนใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการฝักใฝ่พรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้แทนทางการเมืองอื่นใด

ส่วนประเด็นที่ผู้พิพากษาศาลปกครองเห็นว่ามีความร้ายแรงในระดับมาก โดยเรียงลำดับความร้ายแรงจากมากไปน้อยมีดังนี้

ข้อ 6 ตุลาการศาลปกครองไม่ถอนตัวจากการพิจารณาและพิพากษาคดีเมื่อมีเหตุที่ตนอาจถูกคัดค้านได้ตามกฎหมาย หรือเมื่อมีเหตุประการอื่นที่เกี่ยวกับตัวตุลาการศาลปกครอง อันอาจทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเสียความยุติธรรม และกระทำการใด ๆ อันเป็นการจูงใจตุลาการศาลปกครองซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นในภายหลังในประการที่อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้

ข้อ 14 ตุลาการศาลปกครองคบหาสมาคมกับคู่กรณี หรือบุคคลอื่นซึ่งมีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคดีความ หรือบุคคลซึ่งมีความประพฤติหรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไปในการประสาทความยุติธรรมของตุลาการศาลปกครอง

ข้อ 5 ตุลาการศาลปกครองกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคดีที่อาจกระทบต่อบุคคลใด วิจารณ์หรือให้ความเห็นแก่คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือกำลังจะขึ้นสู่ศาล หรืออยู่ในข่ายที่อาจขึ้นสู่ศาลได้

ข้อ 10 ตุลาการศาลปกครองแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อสาธารณชน อันอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของตุลาการศาลปกครอง

ข้อ 11 ตุลาการศาลปกครองรับแต่งตั้งเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีหรือรับเป็นผู้เรียบเรียง ผู้เขียน ผู้พิมพ์คำฟ้อง คำให้การ คำคัดค้านคำให้การ คำให้การเพิ่มเติม คำร้อง คำขอ หรือคำแถลงใด ๆ ในคดี

ข้อ 9 ตุลาการศาลปกครองประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือประกอบกิจการใดอันอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของตุลาการศาลปกครอง

ข้อ 13 ตุลาการศาลปกครองไม่ระมัดระวังการประกอบวิชาชีพ อาชีพ หรือการงานอื่นใดของ คู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคลซึ่งอยู่ในครัวเรือนของตน มีลักษณะเป็นการกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของตุลาการศาลปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไปในการประสาทความยุติธรรมของตุลาการศาลปกครอง

ข้อ 8 ตุลาการศาลปกครองไม่ควบคุมดูแลให้ผู้อยู่ใต้กำกับดูแลปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และอย่างเต็มความสามารถ

ข้อ 4 ตุลาการศาลปกครองไม่ควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ตุลาการศาลปกครองที่ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญของจริยธรรม จัดเป็นสองลำดับคือระดับความร้ายแรงในระดับมากที่สุดและมาก

** หมายเหตุ เลขหัวข้อ กำหนดตรงตามต้นฉบับแบบสอบถามที่มีการประเมิน

3.3 สาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครอง
พบว่า ตุลาการศาลปกครองเห็นว่าสาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย มากที่สุด คือ การขาดปลูกฝังอุดมการณ์ จิตสำนึกที่ดีและการขาดการให้ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพอย่างลึกซึ้งร้อยละ 85.00

รองลงมาได้แก่ การไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์ ค่านิยมและวัฒนธรรมของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับวัตถุ เงิน อำนาจ มากกว่าการรักษาคุณค่าจริยธรรมในวิชาชีพ ร้อยละ 70.00 และบุคลากรในองค์กรวิชาชีพกฎหมายมีค่านิยมที่รักพวกพ้อง ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และมีแนวโน้มที่จะปกป้ององค์กรในทางที่ไม่ถูกต้องร้อยละ 65.00 ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมดังนี้

1. การขาดการปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตตั้งแต่วัยเด็ก และการกำหนดค่าตอบแทนที่ใกล้เคียงกับข้าราชการฝ่ายอื่นๆ ในขณะที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการไม่ควรประกอบอาชีพบางอย่างได้ และ ไม่สามารถเป็นกรรมการในองค์กรต่างๆ ได้ เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่นๆ จึงทำให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการหารายได้โดยไม่คำนึงถึงหลักจริยธรรม

2. การนำตนเองเข้าไปสังกัดกลุ่มทางสังคมภายนอกแวดวงตุลาการ เช่น สมัครเข้ารับการอบรมหลักสูตรระดับสูงที่ประกอบไปด้วย พ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ ทหาร นักการเมือง ตำรวจ สื่อมวลชน ฯลฯ และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความสนิทสนมกันหลายกรณีร่วมกันทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมกับคุณค่าของงานที่รับผิดชอบ

3. การประพฤติตนหรือการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจในองค์กร

4. การศึกษาวิชากฎหมายไม่ใช่ปลูกฝัง เรียนรู้แค่ตัวบุคคลอ่านหนังสือได้ก็เรียนกฎหมายได้ แปลความข้าง ๆ คู ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรียนรู้มาแบบใด แบบส่งเสริมพัฒนาให้ได้ปริญญา ใช้กฎหมายเป็นคุณกับตัวเอง แต่เป็นโทษกับฝ่ายตรงข้ามความสำคัญของการเรียนรู้คือจิตสำนึก อุดมคติ เงินและวัตถุหากคิดว่าขาดก็ขาดพอสำหรับแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ดังนั้นการศึกษาต้องปลูกฝังจิตสำนึกของบุคคลเรียนเพื่ออะไร บุคคลที่มาสอบต้องการแค่เงิน หรือต้องการสอนหนังสือเพื่อสร้างคนต้องควบคุมมาตรฐานของผู้สอนต้องรู้จริง ปฏิบัติจริง ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ

5. นิสัยส่วนตัวของแต่บุคคลที่ชอบฝ่าฝืนจริยธรรม

6. ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเพียงพอในเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ

3.4 ผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครอง

ตุลาการศาลปกครองคิดว่าผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย มากที่สุดคือ คนไม่เชื่อในระบบยุติธรรม และผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ร้อยละ 58.82

รองลงมาได้แก่ สังคมขาดความมั่นคง บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย คนไม่กลัวกฎหมาย เกิดการคอรัปชั่น ประชาชนเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประเทศชาติ ร้อยละ 29.41 และทำให้สังคมแตกแยก เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เกิดการชุมนุมเรียกร้อง ร้อยละ 17.65

3.5 ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลไกการควบคุมความประพฤติ

ความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครองต่อกลไกควบคุมพฤติกรรม เห็นว่าเหมาะสมแล้ว ร้อยละ 82.35 และไม่เหมาะสม ร้อยละ 17.65

ตุลาการศาลปกครองมีข้อเสนอแนะต่อกลไกการควบคุมความประพฤติ ดังนี้คือ มีการตรวจสอบควบคุมที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น จัดตั้งคณะกรรมการหรือกระทรวงในการตรวจสอบช่วยเหลือ และให้ความรู้เรื่องกฎหมายและร้องเรียนแก่ประชาชน ไม่ให้บุคลากรในองค์กรเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ มากที่สุด ร้อยละ 29.41

รองลงมาได้แก่ เพิ่มมาตรการส่งเสริมเชิดชูหรือให้รางวัลแก่ผู้ที่มีความประพฤติดีมีจริยธรรมเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นและสังคม ร้อยละ 11.76 เท่ากับ เลิกการช่วยเหลือกันในวงการของตนเอง ใช้อำนาจ อิทธิพล อุปถัมภ์ มีมาตราลงโทษที่เหมาะสม เด็ดขาด เพิ่มบทลงโทษและถูกลงโทษอย่างเหมาะสม

3.6 ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ตามความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครอง

พบว่า ควรมีการอบรมจริยธรรมอย่างเข้มข้นให้กับนักกฎหมายอยู่เสมอ ควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ภายในองค์กรถึงกรณีตัวอย่างและบทลงโทษ รวมถึงการเผยแพร่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสต่าง ๆ ร้อยละ 30.77 เท่ากับ ควรมีกลไกควบคุมความประพฤติ และมีคณะกรรมการหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเข้ามาตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย เพื่อความไว้วางใจของประชาชน โดยมีหลักเกณฑ์และการทดสอบที่ชัดเจน

รองลงมาได้แก่ ควรมีพัฒนาผู้มีปัญหาทางจริยธรรม มีการลงโทษผู้ที่บกพร่องต่อหน้าที่ และควรมีระบบส่งเสริมคนดี ให้รางวัลผู้ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม ร้อยละ 15.38 เท่ากับปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ชี้ให้เห็นโทษของการกระทำผิดและให้ศรัทธาในวิชาชีพ ควรตรวจสอบพฤติกรรมและคุณวุฒิของผู้ประกอบวิชาชีพด้วย รวมถึงกำหนดอายุผู้เข้าสอบให้สูงขึ้นเพื่อไปหาประสบการณ์ก่อน เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบวิชาชีพควรมีจิตใจแน่วแน่ และมีสามัญสำนึกในการทำหน้าที่ ตลอดจนปฏิบัติตามคำปฏิญาณที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตอนที่ 4 ความคิดเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

4.1 ข้อมูลทั่วไปของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตอบแบบสอบถาม

ในการศึกษาครั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตอบแบบสอบถามมีทั้งหมด 4 คน โดยทั้งหมดเป็นเพศชาย มีอายุมากกว่า 51 ปี โดย ตุลาการร้อยละ 50 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงสุด และอีกร้อยละ 50 จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท

· ผลการประเมินระดับการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพตามหัวข้อที่กำหนดว่าเป็นเรื่องสำคัญในระดับใด (ร้ายแรงจากมากไปหาน้อย)

หัวข้อ ปัญหาจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

1 ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร

2 ไม่รักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย

3 ไม่ยึดมั่นความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสหรือการกดดันใด ๆ

4 ไม่รักษาความลับในการประชุมปรึกษาอย่างเคร่งครัด

5 ไม่เคารพในมติและเหตุผลในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก

6 ไม่ระมัดระวังในการให้คำปรึกษาแก่บุคคลภายนอกในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

7 ไม่ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหา ที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย


** หมายเหตุ เลขหัวข้อ กำหนดตรงตามต้นฉบับแบบสอบถามที่มีการประเมิน


พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าประเด็นที่มีความสำคัญของปัญหาจริยธรรมของตุลาการรัฐธรรมนูญ ทุกประเด็นอยู่ในระดับมากที่สุด โดยให้ความสำคัญเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้

ข้อ 1 ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร

ข้อ 3 ไม่ยึดมั่นความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสหรือการกดดันใด ๆ

ข้อ 2 ไม่รักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย

ข้อ 6 ไม่ระมัดระวังในการให้คำปรึกษาแก่บุคคลภายนอกในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อ 7 ไม่ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ข้อ 4 ไม่รักษาความลับในการประชุมปรึกษาอย่างเคร่งครัด

ข้อ 5 ไม่เคารพในมติและเหตุผลในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก

4.2 สาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของตุลาการศาล            รัฐธรรมนูญ

พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าสาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย มากที่สุด คือ บุคลากรในองค์กรวิชาชีพกฎหมายมีค่านิยมที่รักพวกพ้อง ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และมีแนวโน้มที่จะปกป้ององค์กรในทางที่ไม่ถูกต้อง ร้อยละ 100.00

รองลงมาได้แก่ การขาดปลูกฝังอุดมการณ์ จิตสำนึกที่ดีและการขาดการให้ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพอย่างลึกซึ้ง ร้อยละ 75.00 เท่ากับ การแทรกแซงการวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือการเมือง องค์กรที่ควรมีบทบาทและทำหน้าที่ในการป้องกันการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพไม่ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือทำงานล่าช้า

การไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์ ค่านิยมและวัฒนธรรมของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับวัตถุ เงิน อำนาจ มากกว่าการรักษาคุณค่าจริยธรรมในวิชาชีพ ร้อยละ 50.00 เท่ากับ การมีแบบอย่างที่ไม่ดีในวงการวิชาชีพกฎหมาย หรือผู้ที่ประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพไม่ได้รับการลงโทษ เนื้อหาสาระที่กำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพมีมากเกินไปและไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

4.3 ผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของตุลาการศาล       รัฐธรรมนูญ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคิดว่าผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย มากที่สุดคือ คนไม่เชื่อในระบบยุติธรรม และผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ร้อยละ 75.00

รองลงมาได้แก่ สังคมขาดความมั่นคง บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย คนไม่กลัวกฎหมาย เกิดการคอรัปชั่น ประชาชนเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประเทศชาติ ร้อยละ 50.00 ทำให้สังคมแตกแยก เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เกิดการชุมนุมเรียกร้อง ร้อยละ 25.00

4.4 ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกลไกการควบคุมความประพฤติ

- เหมาะสมแล้ว ร้อยละ 100.00

พบว่า ควรสร้างนักกฎหมายใหม่ขึ้นมา ทนายความและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอื่น ๆ ร้อยละ 25.00 เท่ากับ จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายขึ้นอยู่จิตใต้สำนึกของแต่ละบุคคล พื้นฐานของครอบครัว ควรมีระบบตรวจสอบที่ถ่วงดุล สามารถตรวจสอบทั่วถึงและบังคับได้จริง และเคร่งครัดให้มากกว่านี้ ใช้ข้อกฎหมายอย่างจริงจัง และชัดเจน

4.5 ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ตามความคิดเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอแนะอื่น ๆ มากที่สุด คือ ควรมีการอบรมจริยธรรมอย่างเข้มข้นให้กับนักกฎหมายอยู่เสมอ ควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ภายในองค์กรถึงกรณีตัวอย่างและบทลงโทษรวม ร้อยละ 50.00 เท่ากับ ปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ชี้ให้เห็นโทษของการกระทำผิดและให้ศรัทธาในวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพควรมีจิตใจแน่วแน่ และมีสามัญสำนึกในการทำหน้าที่ ตลอดจนปฏิบัติตามคำปฏิญาณที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รองลงมา ได้แก่ ควรมีพัฒนาผู้มีปัญหาทางจริยธรรม มีการลงโทษผู้ที่บกพร่องต่อหน้าที่ และควรมีระบบส่งเสริมคนดี ให้รางวัลผู้ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม ร้อยละ 25.00

ตอนที่ 5 ความคิดเห็นของอัยการ

5.1 ข้อมูลทั่วไปของอัยการที่ตอบแบบสอบถาม

พบว่า อัยการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้ตอบในกรุงเทพมหานครคิดเป็นร้อยละ 48.33 รองลงมาได้แก่ ผู้ตอบในจังหวัดนครราชสีมาคิดเป็นร้อยละ 25.00 ผู้ตอบในจังหวัดเชียงใหม่ร้อยละ 18.33
และผู้ตอบในจังหวัดสงขลาร้อยละ 8.33 โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นผู้ชายร้อยละ 93.10 และผู้หญิงร้อยละ 6.90

ในส่วนของอายุพบว่า อัยการที่ตอบแบบสอบถามมีอายุระหว่าง 31 – 40 ปี มากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 33.33 รองลงมาได้แก่อัยการที่มีอายุระหว่าง 41-50 ปี ร้อยละ 30.00 อัยการที่มีอายุสูงกว่า 51 ปี    คิดเป็น ร้อยละ 28.33 และอัยการที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี มีจำนวนน้อยที่สุดคิดเป็นร้อยละ 8.33

ในส่วนของระดับการศึกษาพบว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 55.93 รองลงมาได้แก่ระดับปริญญาโท ร้อยละ 44.07

5.2 อายุราชการของอัยการที่ตอบแบบสอบถาม

พบว่า อัยการที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง มีอายุราชการ เฉลี่ย 11.32 ปี

· ผลการประเมินระดับการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพตามหัวข้อที่กำหนดว่าเป็นเรื่องสำคัญในระดับใด (ร้ายแรงจากมากไปหาน้อย)

หัวข้อ ปัญหาจริยธรรมของอัยการ

1.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม

3.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่มีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบ

4.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ต้องยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและมีผลประโยชน์ทับซ้อน

5.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรมและถูกกฎหมาย

6.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว

มีอัธยาศัย และเลือกปฏิบัติ

7.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนถูกต้อง และบิดเบือนข้อเท็จจริง

8.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานไม่รักษามาตรฐาน ไม่โปร่งใส

9.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์กร

10.ข้าราชการฝ่ายอัยการรับทรัพย์สินของกำนัลหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือรับทรัพย์สิน ของกำนัล ผลประโยชน์อื่นใด ที่มากกว่าการให้กันตามอัธยาศัยและประเพณี หรือมีมีมูลค่าเกินกว่าที่ระเบียบ กฎหมายได้กำหนดไว้

11.ข้าราชการฝ่ายอัยการยินยอมให้บุคคลในครอบครัวก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือของผู้อื่นและยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ

12.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่รักษาความลับของทางราชการและเปิดเผยความลับแก่บุคคลใดซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะล่วงรู้ความลับนั้น

13.ข้าราชการอัยการไม่รักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์แห่งวิชาชีพและจริยธรรมนี้อย่างเคร่งครัด กระทำการใด ๆ

อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

14.ข้าราชการอัยการไม่พิจารณาสั่งคดีด้วยความมีอิสระและไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม

15.ข้าราชการอัยการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนถึง

การปฏิบัติหน้าที่ หรือเสื่อมเสียถึงเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ


** หมายเหตุ เลขหัวข้อ กำหนดตรงตามต้นฉบับแบบสอบถามที่มีการประเมิน


พบว่า อัยการที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าประเด็นที่มีความสำคัญต่อจริยธรรมให้ระดับความร้ายแรงของทุกประเด็นอยู่ในระดับมากทั้งหมด โดยเรียงลำดับความร้ายแรงจากมากไปหาน้อย  ได้ดังนี้

ข้อ 10.ข้าราชการฝ่ายอัยการรับทรัพย์สินของกำนัลหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือรับทรัพย์สิน ของกำนัล ผลประโยชน์อื่นใด ที่มากกว่าการให้กันตามอัธยาศัยและประเพณี หรือมีมีมูลค่าเกินกว่าที่ระเบียบ กฎหมายได้กำหนดไว้

ข้อ 3.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่มีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบ

ข้อ 14.ข้าราชการอัยการไม่พิจารณาสั่งคดีด้วยความมีอิสระและไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม

ข้อ 4.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ต้องยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ข้อ 2.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม

ข้อ 9.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์กร

ข้อ 1.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อ 5.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรมและถูกกฎหมาย

ข้อ 11.ข้าราชการฝ่ายอัยการยินยอมให้บุคคลในครอบครัวก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือของผู้อื่นและยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ

ข้อ 13.ข้าราชการอัยการไม่รักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์แห่งวิชาชีพและจริยธรรมนี้อย่างเคร่งครัด กระทำการใด ๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

ข้อ 8.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานไม่รักษามาตรฐาน ไม่โปร่งใส

ข้อ 12.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่รักษาความลับของทางราชการและเปิดเผยความลับแก่บุคคลใดซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะล่วงรู้ความลับนั้น

ข้อ 6.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็วมีอัธยาศัย และเลือกปฏิบัติ

ข้อ 15.ข้าราชการอัยการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ หรือเสื่อมเสียถึงเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ข้อ 7.ข้าราชการฝ่ายอัยการไม่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนถูกต้อง และบิดเบือนข้อเท็จจริง

5.3 สาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของอัยการ

พบว่า อัยการที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าประเด็นที่มีความสำคัญต่อสาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย คือ การขาดปลูกฝังอุดมการณ์ จิตสำนึกที่ดีและการขาดการให้ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพอย่างลึกซึ้ง ร้อยละ 80.00

รองลงมา ได้แก่ การไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัฒน์ ค่านิยมและวัฒนธรรมของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับวัตถุ เงิน อำนาจ มากกว่าการรักษาคุณค่าจริยธรรมในวิชาชีพและการแทรกแซงการ วินิจฉัย ชี้ขาดคดีโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือการเมือง ร้อยละ 70.00

บุคลากรในองค์กรวิชาชีพกฎหมายมีค่านิยมที่รักพวกพ้อง ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและ ไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และมีแนวโน้มที่จะปกป้ององค์กรในทางที่ไม่ถูกต้อง ร้อยละ 61.67

5.4 ผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของอัยการ

อัยการเห็นว่าผลกระทบมากที่สุด คือ คนไม่เชื่อในระบบยุติธรรม และผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ร้อยละ 32.65

รองลงมาได้แก่ การประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม คนถูกเป็นผิด ทำให้คนผิดเป็นถูก ร้อยละ 22.45 และเป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เท่ากับ ทำให้สังคมแตกแยก เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เกิดการชุมนุมเรียกร้อง ร้อยละ 18.37

5.5 ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของอัยการเกี่ยวกับกลไกการควบคุมความประพฤติ

- เห็นว่า เหมาะสมแล้ว ร้อยละ 83.67 และไม่เหมาะสม ร้อยละ 16.33

พบว่า อัยการมีข้อเสนอแนะต่อกลไกการควบคุมความประพฤติ ดังนี้ เลิกการช่วยเหลือกันในวงการของตนเอง ใช้อำนาจ อิทธิพล อุปถัมภ์ มากที่สุด ร้อยละ12.24 เท่ากับปลูกจิตสำนึกเรื่องจริยธรรม กฎระเบียบ ข้อบังคับ อุดมการณ์

รองลงมาได้แก่ มีการตรวจสอบควบคุมที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น จัดตั้งคณะกรรมการหรือกระทรวงในการตรวจสอบช่วยเหลือ และให้ความรู้เรื่องกฎหมายและการร้องเรียนแก่ประชาชน ไม่ให้บุคลากรในองค์กรเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ ร้อยละ 10.20 การเลิกการรับสินบน ประโยชน์ทับซ้อนหน้าที่ของตน การเอาเปรียบผู้รู้น้อยกว่า ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม ไม่รักษาจริยธรรม ร้อยละ 8.16 เท่ากับการจัดให้มีการอบรมธรรมะ เผยแพร่ และฝึกฝนแก่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายและมีมาตราลงโทษที่เหมาะสม เด็ดขาด เพิ่มบทลงโทษและถูกลงโทษอย่างเหมาะสม

5.6 ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ตามความคิดเห็นของอัยการ

พบว่า ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลไกการควบคุมความประพฤติ ปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ชี้ให้เห็นโทษของการกระทำผิดและให้ศรัทธาในวิชาชีพ ร้อยละ 30.77

รองลงมาได้แก่ ควรมีกลไกควบคุมความประพฤติ และมีคณะกรรมการหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเข้ามาตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย เพื่อความไว้วางใจของประชาชน โดยมีหลักเกณฑ์และการทดสอบที่ชัดเจน ร้อยละ 15.38

มีการประเมินคุณธรรมและจริยธรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาผู้มีปัญหาทางจริยธรรม มีการลงโทษ ผู้ที่บกพร่องต่อหน้าที่ และควรมีระบบส่งเสริมคนดี ให้รางวัลผู้ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม ร้อยละ 12.82 เท่ากับ ผู้ประกอบวิชาชีพควรมีจิตใจแน่วแน่ และมีสามัญสำนึกในการทำหน้าที่ ตลอดจนปฏิบัติตามคำปฏิญาณที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตอนที่ 6 ความคิดเห็นของทนายความ

6.1 ข้อมูลทั่วไปของทนายความที่ตอบแบบสอบถาม

พบว่า ทนายความที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นผู้ตอบในกรุงเทพมหานคร มากที่สุด ร้อยละ 48.33 รองลงมาได้แก่ นครราชสีมา ร้อยละ 25.00 เชียงใหม่ ร้อยละ 18.33 และสงขลา ร้อยละ 8.33

ในส่วนของเพศ พบว่า ทนายความที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย ร้อยละ 93.10 และ เพศหญิง ร้อยละ 6.90

ในส่วนของอายุพบว่า ทนายความที่ตอบแบบสอบถามมีอายุระหว่าง 31-40 ปี มากที่สุด ร้อยละ 33.33 รองลงมาได้แก่ทนายความที่มีอายุระหว่าง 41-50 ปี ร้อยละ 30.00 ทนายความที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป ร้อยละ 28.33 และทนายความที่มีต่ำกว่า 30 มีจำนวนน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 8.33

ในส่วนของระดับการศึกษาสูงสุดพบว่า ทนายความที่ตอบแบบสอบถาม มีระดับการศึกษา ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 55.93 และปริญญาโท ร้อยละ 44.07

· ผลการประเมินระดับการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพตามหัวข้อที่กำหนดว่าเป็นเรื่องสำคัญในระดับใด (ร้ายแรงจากมากไปหาน้อย)

· ระดับความสำคัญของปัญหาจริยธรรมด้านมารยาทต่อศาลและในศาลของทนายความ
พบว่า ทนายความที่ตอบแบบสอบถามปัญหาจริยธรรมมรรยาทต่อศาลและในศาล เห็นว่าประเด็นที่มีความร้ายแรงในระดับมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อยได้แก่

ข้อ 4 สมรู้เป็นใจโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยานให้เบิกความเท็จ หรือโดยปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานใด ๆ ซึ่งควรนำมายื่นต่อศาล หรือสัญญาจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน

ข้อ 3 กล่าวความ หรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลง หรือกระทำการใดเพื่อทราบคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย

ในส่วนของประเด็นที่ทนายความเห็นว่ามีความร้ายแรงในระดับมาก เรียงลำดับจากมากไปน้อยได้แก่

ข้อ 2 ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาลหรือนอกศาลอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา

ข้อ 1.ไม่รับหน้าที่เมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญา

** หมายเหตุ เลขหัวข้อ กำหนดตรงตามต้นฉบับแบบสอบถามที่มีการประเมิน
· ระดับความสำคัญของปัญหาจริยธรรมด้านมารยาทต่อตัวความของทนายความ

พบว่า ทนายความที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าปัญหาจริยธรรมด้านมรรยาทต่อตัวความ โดยมีประเด็นที่มีความร้ายแรงมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้

ข้อ 6.1 ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่าง หรือแก้ต่างโดย หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้

ข้อ 8.1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความโดย จงใจ ขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี

ข้อ 8.2 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความจงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตนหรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ

ข้อ 9.ได้รับปรึกษาหารือ หรือได้รู้เรื่องกรณีแห่งคดีใดโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายหนึ่งแล้วภายหลังไปรับเป็นทนายความหรือใช้ความรู้ที่ได้มานั้นช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นปรปักษ์อยู่ในกรณีเดียวกัน

ข้อ 6.3 ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่าง หรือแก้ต่าง โดยอวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใด ๆ ได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดีนั้นจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้

ข้อ 7.เปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากลูกความนั้น หรือโดยอำนาจศาล

ข้อ 5.กระทำการใดอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีอันหามูลมิได้

ทั้งนี้มีเฉพาะประเด็น ข้อ 6.2 ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่าง หรือแก้ต่างโดย อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความคนอื่น ที่ทนายความเห็นว่ามีความร้ายแรงอยู่ในระดับมากเท่านั้น

** หมายเหตุ เลขหัวข้อ กำหนดตรงตามต้นฉบับแบบสอบถามที่มีการประเมิน


· ระดับความสำคัญของปัญหาจริยธรรมต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี   และอื่น ๆ
พบว่า ทนายความที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าประเด็นที่มีความร้ายแรงในระดับมากที่สุด โดยเรียงระดับความร้ายแรงจากมากไปหาน้อยดังนี้

ข้อ 14.ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ

ข้อ 12.แย่ง หรือทำการใดในลักษณะประมูลคดีที่มีทนายความอื่นว่าต่างแก้ต่างอยู่แล้วมาว่า หรือรับ หรือสัญญาว่าจะรับว่าต่าง แก้ต่างในคดีที่รู้ว่ามีทนายความอื่นว่าอยู่แล้ว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากทนายความที่ว่าความอยู่ในเรื่องนั้น หรือมีเหตุผลอันควรเชื่อว่าตัวความได้ถอนทนายความคนก่อนจากการเป็นทนายความของเขาแล้ว หรือทนายความผู้ว่าความในเรื่องนั้นปฏิเสธ หรือแสดงความไม่สมัครใจที่จะว่าความในคดีนั้นต่อไปแล้ว

ส่วนในประเด็นที่ทนายความเห็นว่ามีความร้ายแรงระดับมากโดยเรียงลำดับมากไปหาน้อย ได้แก่

ข้อ 15.ยินยอมตกลง หรือให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ค่านายหน้าหรือบำเหน็จรางวัลใด ๆ ด้วยทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้ที่หาคดีความหรือนำคดีความมาให้ หรือมีคนประจำสำนักงานดำเนินการจัดหาคดีความมาให้ว่าโดยทนายความผู้นั้นคิดค่าส่วนลดของค่าจ้างให้

ข้อ 13.1 ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณา ใด ๆ โดยระบุว่าอัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ ซึ่งไม่ใช่กรณีการประกาศโฆษณาของทนายความเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายซึ่งดำเนินการโดยสภาทนายความเองหรือโดยสถาบัน สมาคม องค์การ หรือส่วนราชการใดที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 13.2 ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณา ใด ๆ โดยระบุ ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงาน อันเป็นไปในทางโอ้อวดเป็นเชิงชักชวนให้ผู้มีอรรถคดีมาหาเพื่อเป็นทนายความว่าต่าง หรือแก้ต่างให้

· ระดับความสำคัญของปัญหาจริยธรรมด้านมารยาทในการปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและ

ข้อบังคับ


พบว่า ทนายความที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าปัญหาปัญหาจริยธรรมด้านมารยาทในการปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ ทนายความไม่ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความคณะกรรมการสภาทนายความ และคณะกรรมการมรรยาททนายความ ตลอดจนบรรดาข้อบังคับหรือข้อกำหนดที่บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวได้สั่งหรือมีไว้ แล้วแต่กรณี ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มีความร้ายแรงอยู่ในระดับมาก

· ภาพรวมระดับความสำคัญของจริยธรรมของทนายความในแต่ละด้าน

พบว่า ทนายความที่ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญของปัญหาจริยธรรมของทนายความในด้านมารยาทต่อตัวความ และด้านมารยาทต่อศาลและในศาล มีความร้ายแรงในระดับมากที่สุด ส่วนในด้านของมารยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี และอื่น ๆ และด้านมารยาทในการปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ มีความร้ายแรงอยู่ในระดับมาก

6.2 สาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของทนายความ

พบว่า ทนายความเห็นว่าสาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย มากที่สุด คือ การขาดการปลูกฝังอุดมการณ์ จิตสำนึกที่ดีและการขาดการให้ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพอย่างลึกซึ้ง ร้อยละ 80.00 รองลงมาได้แก่ การไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์ ค่านิยมและวัฒนธรรมของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับวัตถุ เงิน อำนาจ มากกว่าการรักษาคุณค่าจริยธรรมในวิชาชีพ ร้อยละ 67.50 และการแทรกแซงการวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือการเมือง ร้อยละ 65.00 ทั้งนี้มีความคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้

1. ขาดจิตสำนึกของความเป็นคนที่มีคุณธรรม ศักดิ์ศรี

2. มีนักกฎหมายที่ทำตัวไม่เหมาะสมหาช่องทางแก้ปัญหาต่างๆให้กับคนที่ทำผิดกฏหมายและเอาเปรียบสังคม

3. ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่กระทำผิดจริยธรรมทางวิชาชีพทำให้ไม่เกิดความเกรงกลัวในการที่จะประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพ

4. รายได้น้อย

6.3 ผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของทนายความ

พบว่า ทนายความคิดว่าผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย มากที่สุด คนไม่เชื่อในระบบยุติธรรม และผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ร้อยละ 36.51

รองลงมาได้แก่ ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม คนถูกเป็นผิด ทำให้คนผิดเป็นถูกร้อยละ 25.40 และสังคมขาดความมั่นคง บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย คนไม่กลัวกฎหมาย เกิดการคอรัปชั่น ประชาชนเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประเทศชาติ ร้อยละ 17.46

6.4 ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลไกการควบคุมความประพฤติ

- เห็นว่า เหมาะสมแล้ว ร้อยละ 83.33 และไม่เหมาะสม ร้อยละ 16.67

พบว่า ทนายความมีข้อเสนอแนะต่อกลไกการควบคุมความประพฤติ ดังนี้ มีมาตราลงโทษที่เหมาะสม เด็ดขาด เพิ่มบทลงโทษและถูกลงโทษอย่างเหมาะสม มากที่สุด ร้อยละ 21.67 เท่ากับ รองลงมาได้แก่ จัดมีการอบรมธรรมะ เผยแพร่ และฝึกฝนแก่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ร้อยละ 13.33 เท่ากับมีการตรวจสอบควบคุมที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น จัดตั้งคณะกรรมการหรือกระทรวงในการตรวจสอบช่วยเหลือ และให้ความรู้เรื่องกฎหมายและการร้องเรียนแก่ประชาชนแก่ประชาชน ไม่ให้บุคลากรในองค์กรเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ และเลิกการช่วยเหลือกันในวงการของตนเอง ใช้อำนาจ อิทธิพล อุปถัมภ์ ร้อยละ 10.00

6.5 ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ตามความคิดเห็นของทนายความ

พบว่า ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ควรมีการปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ชี้ให้เห็นโทษของการกระทำผิดและ ให้ศรัทธาในวิชาชีพมากที่สุด ร้อยละ 30.19

รองลงมาได้แก่ ควรมีการอบรมจริยธรรมอย่างเข้มข้นและชัดเจนให้กับนักกฎหมายอยู่เสมอ ควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ภายในองค์กรถึงกรณีตัวอย่างและบทลงโทษ รวมถึงการเผยแพร่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสต่าง ๆ และหลักการทางศาสนาต่าง ๆ ร้อยละ 17.65 เท่ากับ ควรมีประมวลจริยธรรมของวิชาชีพให้ชัดเจน และมีการปรับปรุงให้ทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ควรมีการบังคับใช้กลไกควบคุมจริยธรรมอย่างเคร่งครัด และผู้ควบคุมความประพฤติต้องซื่อตรงร้อยละ 11.32 เท่ากับควรมีโทษต่อการกระทำผิดต่อจริยธรรมด้านวิชาชีพที่รุนแรง


 สรุปภาพรวม เปรียบเทียบความคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนา การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ
และแบบสอบถาม

จากการศึกษาเปรียบเทียบความคิดเห็น สรุปได้ดังนี้

· เรื่องสาเหตุของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพ ทุกกลุ่มให้ความสำคัญและมีความเห็นสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ

อันดับที่หนึ่งคือ ปัญหาการขาดการปลูกฝังอุดมการณ์ จิตสำนึกที่ดีและการขาดการให้ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพอย่างลึกซึ้ง

รองลงมาคือ ปัญหาที่เกิดจากการไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์ ค่านิยมและวัฒนธรรมของโลก ยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคับกับวัตถุ เงิน อำนาจ มากกว่าการรักษาคุณค่าจริยธรรมในวิชาชีพ หรือเป็นปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

· ผลกระทบของปัญหาจริยธรรมวิชาชีพ

ทุกกลุ่มให้ความสำคัญและมีความเห็นสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ

- สังคมเกิดความสับสนวุ่นวาย แตกแยก เกิดวิกฤติศรัทธา ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม เดือดร้อน ขาดที่พึ่ง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการไม่เคารพกฎหมาย ปัญหาทุจริต ประชาชนเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประเทศชาติ

- คนไม่เชื่อในระบบความยุติธรรมและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย สังคมมองผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในภาพลบ

· ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลไกการควบคุมความประพฤติ

ภาพรวมของทุกกลุ่ม ส่วนใหญ่มีความเห็นว่ากลไกการควบคุมความประพฤติที่กำหนดไว้มีความเหมาะสม แต่มีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ความคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนา คือผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ควรแก้ไขเรื่องสัดส่วนของสภานายกพิเศษ สภาทนายความ โดยการตัดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีออก และแก้ไขเป็นให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกแทน

ความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ คือผู้เชี่ยวชาญกฎหมายส่วนใหญ่เห็นว่า กลไกการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับประมวลจริยธรรม จริยธรรมวิชาชีพ คณะกรรมการ การลงโทษ นั้น มีการกำหนดไว้ชัดเจน แต่มีความบกพร่องในการบังคับใช้หรือมีช่องว่าง และมีข้อสังเกตว่าในการดำเนินการพิจารณาสอบสวนจริยธรรมมักจะใช้เวลานาน ยึดติดรูปแบบมากกว่าดุลพินิจที่ได้รับความไว้วางใจ

ความคิดเห็นที่ได้จากแบบสอบถาม
คือ ทุกกลุ่มมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่ากลไกควบคุมความประพฤติมีความเหมาะสมแล้ว แต่มีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายและแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันในการให้ความสำคัญในรายละเอียด แต่ในภาพรวมของข้อเสนอแนะโดยส่วนใหญ่เน้นเรื่องการลงโทษผู้กระทำผิดจริยธรรมวิชาชีพต้องมีความเด็ดขาด มีมาตรการลงโทษที่เหมาะสม การเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมาย และเลิกระบบอุปถัมภ์ การใช้อำนาจและอิทธิพลช่วยเหลือกัน ควรมีการอบรมจริยธรรมอย่างเข้มข้นให้กับนักกฎหมายอยู่เสมอ ควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ภายในองค์กรถึงกรณีตัวอย่างและบทลงโทษ ปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ชี้ให้เห็นโทษของการกระทำผิดและให้ศรัทธาในวิชาชีพ กลไกการตรวจสอบควรมีการตรวจสอบควบคุมที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น ควรจัดตั้งคณะกรรมการหรือกระทรวงในการตรวจสอบ ช่วยเหลือ และให้ความรู้เรื่องกฎหมายและการร้องเรียนแก่ประชาชน รวมทั้งไม่ควรให้บุคลากรในองค์กรเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ และควรมีระบบส่งเสริมคนดี ให้รางวัลผู้ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม .




 ตารางเปรียบเทียบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ







ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนา (pdf.)

       หน้า 1-30  
 http://www.mediafire.com/view/?7ydguh1ccarkbh7 
         หน้า 31-60  

http://www.mediafire.com/view/?8n2qaz306td2jki  
 
         หน้า 61-90  

http://www.mediafire.comview/?xxv9d55xcnr3phw
   
         หน้า 91-120  

http://www.mediafire.com/view/?2f3tod30i7ks726  

         หน้า 121-136  

http://www.mediafire.com/view/?41blh2zfda77ukr

         หน้า 137-141  

http://www.mediafire.com/view/?vccek0ydgeyugoh    

     




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น