วันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2554
ณ ห้องเกียรติยศ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ)
___________________________เริ่มประชุมเวลา 9.00 น.
เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว หัวหน้าโครงการวิจัยและประธานในที่ประชุมได้กล่าวเปิดการสัมมนาจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมในการสัมมนาจากผู้แทนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น กรรมการ ป.ป.ช. สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนจากหอการค้าไทย สภาทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมธนาคารไทย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สำนักงานศาลปกครอง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนติบัณฑิตยสภา สำนักงาน ป.ป.ช.เป็นต้น
ประธานกล่าวรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นเรื่องจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย และแนะนำคณะผู้วิจัยและอธิบายความเป็นมาและความสำคัญของการวิจัย ขอบเขตการศึกษาวิจัย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้คือ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็น
ผู้รักษากฎหมายตามหลักนิติธรรม ในระบบสากลนั้น
ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจัดเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจทางบริหารและเป็นผู้รักษาหลักนิติธรรม (Rule of law) ดังนั้น หากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายไม่มีความเป็นอิสระและไม่มีความรู้ ก็จะถูกบดขยี้จากอำนาจรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการตีความกฎหมาย ตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน ถึงยุคปัจจุบัน ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด หากที่ใดไม่มีความยุติธรรม ที่นั้นก็จะเกิดกลียุค
จริยธรรมเป็นการพัฒนาการที่เกิดจากการเสียสละความสุขส่วนตัว จริยธรรมสาธารณะมีความสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้ว คนที่ทำหน้าที่ดูแลกฎหมายจะได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่น ในต่างประเทศ จริยธรรมจะหมายความรวมถึงการเตือนให้ปฏิบัติตามจริยธรรมและรวมถึงการส่งเสริมด้วย ส่วนวินัยเป็นเรื่องที่มุ่งลงโทษ
ผู้ฝ่าฝืนจริยธรรม ดังนั้น จริยธรรมจึงเป็นหลักที่ส่งเสริมการตัดสินใจที่ทำเพื่อยกระดับจิตใจ และเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางวินัยด้วย
ปัจจุบัน สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองเปลี่ยนแปลงไป ทำให้จริยธรรมเปลี่ยนแปลงไปด้วย บางการกระทำอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ใช่การผิดจริยธรรมร้ายแรง แต่อาจเป็นเรื่องทำให้เกิดความไม่น่าเลื่อมใสอันมีผลต่อจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย
จากการศึกษาพบว่าสถิติเรื่องที่มีการกล่าวหาผู้พิพากษา ตุลาการศาลปกครอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พนักงานอัยการ มายังสำนักงาน ป.ป.ช. มีหลายเรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นการกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ บางเรื่องเป็นการร้องเรียนว่า ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายดังกล่าวไม่ฟังเสียง ไม่ยอมรับ หรือมีคำสั่งแล้วไม่แจ้งเหตุผล ไม่นำพยานหลักฐานที่เขาคิดว่าสำคัญเข้าสืบโดยสงสัยว่าจะมีการลำเอียง หรือสงสัยว่าจะมีการรับสินบน ซึ่งเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองความยุติธรรม อันจะนำมาสู่การแก้ไขให้เกิดความยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ในอดีต ประเทศไทยจะไม่มีการเก็บข้อมูลจากการที่ประชาชนมาร้องเรียน แต่งานวิจัยนี้จะนำข้อมูลทางสถิติมาใช้ในการวิเคราะห์ด้วย ซึ่งจะแตกต่างกับในต่างประเทศจะมีการเก็บข้อมูลทางสถิติไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล harmful error หรือ harmless error แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการแสดงข้อมูลทางสถิติเหล่านี้ โดยอาจจะเห็นว่าไม่มีความสำคัญ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไทยควรมีการยกระดับเพื่อให้ทัดเทียมกับระดับสากลต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลง FTA ทำให้จะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน มาตรฐานวิชาชีพ เพื่อเตรียมรองรับการเปิดเสรีด้าน legal service กับนานาประเทศตามข้อตกลง นอกจากนี้
อาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกร่วมอยู่ด้วยได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี
ค.ศ.2015
ในด้านองค์ประกอบกฎหมายจะเห็นได้ว่าเรื่องจริยธรรมจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะที่เป็นผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล การ
ไต่สวนจริยธรรม และกระบวนการถอดถอน จึงต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างเป็นกรณีที่เป็นความผิดจริยธรรมร้ายแรง กรณีใดเป็นเรื่องการผิดจริยธรรม
ทั่วไป ซึ่งในงานวิจัยนี้จะมีการเก็บข้อมูลกรณีต่าง ๆ
จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ปัญหาจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจาก
- การรับสินบน , วิ่งเต้น
- ปัญหาความไม่เป็นกลางของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย , การเลือกปฏิบัติ
- สภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ
- ระบบอุปถัมภ์
- การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมวิชาชีพ
- ปัญหาการควบคุมคุณภาพการศึกษาของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย
(จากนโยบายธุรกิจการศึกษา “ จ่ายครบ จบแน่ ”
สู่ปัญหาการขาดคุณภาพของคน/
ผู้เรียนกฎหมายมีมากเกินไป ล้นตลาดแรงงาน)
- ปัญหาการขัดกันของผลประโยชน์ , การมีส่วนได้เสีย
- ค่านิยมและทัศนคติของสังคม , ลัทธิบริโภคนิยม
- การขาดความตระหนักถึงปัญหาจริยธรรมของบุคลากรในองค์กร
- การขาดการติดตามตรวจสอบขององค์กรภายนอกและองค์กรภายใน
- ขาดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจสอบประวัติและความประพฤติ ,
การรายงานเรื่องการกระทำความผิดย้อนกลับ
- การที่ผู้กระทำขาดความละอายต่อบาป (หิริโอตตัปปะ)
- ปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง
จากการสัมภาษณ์สถาบันการศึกษากฎหมายบางแห่งพบว่า ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาสถานศึกษาไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงเรื่องจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายกับสถานศึกษาและ มีความเห็นว่าเป็นเรื่องของแต่ละองค์กรวิชาชีพเฉพาะ เช่น สภาทนายความ หรือ
เนติบัณฑิตสภา เท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่นประเทศเกาหลี จะมีการเชื่อมโยงการเรียนการสอน การจัดทำหลักสูตร กับเรื่องจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายทั้งระบบ มิใช่เป็นการให้ความสำคัญเรื่องจริยธรรมวิชาชีพกฎหมายเป็นเพียงวิชาเลือก เพื่อให้นักศึกษาเลือกเรียน เท่านั้น ดังนั้น ในอนาคตเราควรมีการยกเครื่องระบบการเรียนการสอนทั้งระบบ นอกจากนี้ พบว่าในสถาบันอุดมศึกษา พบปัญหาเรื่องการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญความรู้ในด้านนี้อย่างแท้จริง ประกอบกับ
สภาพปัญหาของสถาบันอุดมศึกษาซึ่งขณะนี้กำลังมีปัญหาเรื่อง “ จ่ายครบ จบแน่ ” ทำให้เกิดคำถามว่า
“เราจะหวังอะไรกับจริยธรรมวิชาชีพ ” เพราะเมื่อผู้เรียนเรียนจบการศึกษาเพราะการจ่ายเงิน แสดงให้เห็นถึงการล้มเหลวทางการศึกษา และยังพบปัญหาการซื้อขายปริญญาและใบประกอบวิชาชีพครูอีกด้วย
ในต่างประเทศ เนติบัณฑิตยสภาจะมีบทบาทและมีกลไกควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายเข้มแข็งมาก หาก
เนติบัณฑิตยสภาพบว่า สมาชิกเนติบัณฑิตยสภาขาดจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ ก็จะมีการเพิกถอนความเป็นสมาชิก อันส่งผลให้ขาดคุณสมบัติความเป็นผู้พิพากษาและพนักงานอัยการด้วย โดยการตรวจสอบจะไม่รอให้หน่วยงานเฉพาะขององค์กรวิชาชีพนั้นตรวจสอบก่อน ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลี อำนาจการตรวจสอบนี้จะรวมอยู่ที่ศาลฏีกา และศาลยังทำหน้าที่เป็น
ผู้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพด้วย
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในปัจจุบันหลายประการ เช่น
- การขาดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม
- สังคมเกิดความวุ่นวาย ปั่นป่วน
- คนไม่เคารพกฎหมาย และการพยายามบังคับใช้กฎหมายด้วยตนเอง เช่น การประท้วง ปิดถนน การ
ใช้ความรุนแรงอื่น ๆ
- วิกฤตศรัทธาต่อสถาบันและองค์กรของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย
วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อ
- เพื่อศึกษาพัฒนาการของหลักจริยธรรมในวิชาชีพ กฎหมาย เปรียบเทียบของไทยและของ
ต่างประเทศ
- เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาทางจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายและผลกระทบของปัญหาที่มีต่อสังคมไทยในปัจจุบัน
- เพื่อวิเคราะห์กลไกที่ควบคุมความประพฤติเบี่ยงเบน จากจริยธรรมของบุคคลในวิชาชีพกฎหมาย
- เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย
ในการศึกษา จะจำกัดขอบเขตการศึกษาคือ ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ ทนายความ ตุลาการศาลปกครอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึงนักกฎหมายภาครัฐ เพราะเห็นว่าจัดอยู่ในส่วนของข้าราชการพลเรือน และกลุ่มที่ปรึกษากฎหมายในภาคเอกชน
ในการดำเนินการวิจัย จะผสมผสานกันระหว่างการวิจัย
เชิงปริมาณและวิจัยเชิงคุณภาพโดยจะมีการกำหนดกลุ่มประชากรตัวอย่างในการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล และดำเนินการต่อไปในการกำหนดกรอบจริยธรรมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย โดยมีเครื่องมือการวิจัยคือแบบสัมภาษณ์และแบบสำรวจ ซึ่งคณะ
ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยในระยะเวลารวม 1 ปี 6 เดือน (เริ่มเดือนมกราคม 2554)
ขณะนี้ได้มีการเก็บข้อมูลภาคสนามและมีการสัมภาษณ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแล้ว รวมถึงการประสานงาน
เพื่อขอข้อมูลสถิติเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับสาเหตุแห่งการกระทำผิด ได้แก่ การขาดการอบรมให้ความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมควบคู่ไปกับความรู้ด้านกฎหมาย ระบบการเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำ ปัจจัยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เป็นต้น
สำหรับข้อเสนอแนะนั้น จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านได้ให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่
- ควรปลูกฝังวิชาจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายควบคู่กับการให้ความรู้ทางวิชาการด้านกฎหมาย ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอน วิชานิติศาสตร์ และหลักสูตรขององค์กรต่างๆที่ประกอบอาชีพโดยใช้วิชากฎหมาย และการปลูกฝังเรื่องจริยธรรมทั่วๆไป และควรมีการดำเนินการในระบบการศึกษา ทุกระดับ
- ระบบการเรียนการสอนควรเนินการให้คิดเป็นมากกว่าการจำ เพราะจะทำให้คนคิดเป็นในเบื้องต้นว่าอะไรควรกระทำ อะไรไม่ควรกระทำ ที่มีเหตุผลประกอบการตัดสินใจ
- ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความควรต้องจบการศึกษา
เนติบัณฑิต
- ควรลดขั้นตอนการลงโทษ โดยตัดขั้นตอนการพิจารณาของนายกสภาพิเศษฯ ออก เพราะการลงโทษผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมรรยาทฯ และคณะกรรมการสภาทนายความแล้ว จากนั้นจึงมีสิทธิไปฟ้องศาลปกครอง
- รัฐควรให้เงินอุดหนุนสภาทนายความ ไม่เฉพาะในส่วนการให้การช่วยเหลือประชาชนเท่านั้น เพราะการควบคุมมรรยาททนายความก็มีส่วนสำคัญในการช่วยรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
- ควรมีการควบคุมที่ปรึกษากฎหมายในการประกอบวิชาชีพ โดยการออกใบอนุญาตด้วย
- เนติบัณฑิตยสภา ควรเพิ่มบทบาทในการควบคุมจริยธรรมของสมาชิก
- คณะกรรมการควบคุมวิชาชีพ ควรมีบุคคลภายนอกที่เป็นตัวแทนจากผู้ใช้บริการเข้ามาเป็นกรรมการด้วย
- ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการ ป.ป.ช.ควรปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในภาครัฐ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
- ควรผลิตอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่สอนวิชาจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย
- ควรยกย่อง เชิดชู ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ยึดมั่นในจริยธรรม
จากนั้น ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.เรื่องการปลูกฝังจริยธรรม
ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า ควรมีการเริ่มต้นปลูกฝังจริยธรรมตั้งแต่ยังวัยเยาว์ โดยเริ่มตั้งแต่การอบรมสั่งสอนในครอบครัว สถานศึกษา สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิชาชีพ เพื่อให้เกิดจิตสำนึกตั้งแต่แรกเริ่ม
ผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ควรแบ่งจริยธรรมออกเป็นสองระดับคือจริยธรรมทั่วไป กับจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การอบรมสั่งสอนแต่ดั้งเดิมของไทย ที่แฝงความหมายและคำพูดในคำพังเพยหรือคำอวยพรต่าง ๆ เช่น
“ มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่ ” หรือคำว่า “ กิ๊ก ” หรือคำอวยพรในเทศกาลปีใหม่ที่ว่า “ ขอให้รวย ” นั้น สิ่งเหล่านี้มีส่วนในการสนับสนุนแนวคิดการบริโภคนิยม และการให้ความสำคัญกับทรัพย์สินเงินทอง
ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจะต้องมีจริยธรรมสูงกว่าบุคคลโดยทั่วไป และมีข้อสังเกตว่า ในการปลูกฝังเยาวชนในอดีตแตกต่างจากปัจจุบัน กล่าวคือ ในอดีต การปลูกฝังเยาวชนจะสอนให้รู้จักหน้าที่ สอนเรื่องสมบัติผู้ดี หน้าที่พลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันการเรียนการสอน สมัยนี้ มีการสอนเรื่องสิทธิเด็ก สิทธิสตรี แต่การสอนเรื่องหน้าที่ขาดหายไป ทำให้เยาวชนขาดความรู้ความเข้าใจในหน้าที่
สำหรับการเรียนการสอนนักศึกษากฎหมายนั้น ผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า ผู้ที่สอบไล่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นตัวอย่างด้านจริยธรรมได้มากหรือน้อยเพียงใด บางสถาบันอุดมศึกษามีการนำนิสิตไปศึกษาชีวิตนอกห้องเรียน เช่น การฝึกให้นิสิตเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านว่ามีปัญหากฎหมายหรือไม่ อย่างไร และจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าความรู้ด้านวิชาการเพียงประการเดียว
ผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า การอบรมสั่งสอน การอ่าน การท่องจำ การสร้างคู่มือ หรือการให้ความรู้ ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลนั้นมีจริยธรรมวิชาชีพ แต่ควรหาวิธีการที่จะทำให้การปลูกฝังจริยธรรมเกิดการสร้างให้เกิดขึ้นจริงในตัวบุคคล และควรปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของทัศนคติผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า จริยธรรมและศีลธรรม เป็นเรื่องของหลักความประพฤติที่ดีงาม และมีความเชื่อมโยงกัน ในประเทศไทยทั้งสองเรื่องมีความใกล้เคียงกันมาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะนำมาจากหลักทางพระพุทธศาสนา และส่วนหนึ่งมาจากขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยสมัยโบราณ
2.เรื่ององค์กรที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลจริยธรรมวิชาชีพ
ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะ
แยกออกเป็นสองความเห็น สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้คือ
ความเห็นที่หนึ่ง เห็นว่า ควรมีองค์กรกลางทำหน้าที่ในการกำกับดูแลจริยธรรมของผู้ประกอบ
วิชาชีพกฎหมาย และควรมีการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ
ความเห็นที่สอง เห็นว่า ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพเฉพาะของผู้ประกอบวิชาชีพนั้นในปัจจุบันนี้เหมาะสมแล้ว โดยได้มีการยกตัวอย่างประวัติศาสตร์การแยกตัวขององค์กรวิชาชีพที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนแนวความคิดนี้
3.เรื่องเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหา
ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความเห็นว่า ควรเพิ่มเติมสาเหตุปัญหาในเรื่อง
3.1 ความมุ่งมั่นในการทำคดี ความสนใจในการศึกษาข้อมูลของกระบวนการยุติธรรม เพราะจากที่ปัญหาที่พบ เห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ทำคดีมีความละเอียดในการทำงานแตกต่างกันส่งผลต่อการให้เหตุผลใน
คำวินิจฉัยหรือคำตัดสินคดีที่แตกต่างกัน
3.2 ความล่าช้าในการตัดสินคดี ดังคำกล่าวที่ว่า
“ ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือการไม่ได้รับความยุติธรรม ” อันส่งผลกระทบต่อทั้งโจทก์และจำเลยในคดี
3.3 ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ค่อนข้างสูง ทำให้ประชาชนไม่สามารถ
เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน
3.4 ปัญหาอันเกิดจากความรู้สึกของผู้ฟ้องคดีที่มักจะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องจากระบบการพิจารณาคดีปกครอง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากกระบวนการพิจารณาคดีปกครองมีความซับซ้อน และศาลปกครองจะใช้ระบบไต่สวน และเป็นผู้ทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดี ซึ่ง
แตกต่างจากศาลยุติธรรมซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ดังนั้น
ในการแสวงหาพยานหลักฐานในคดี บางครั้งหลักฐานที่ได้อาจจะเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้ถูกฟ้องด้วยก็ได้ หากเป็นกรณีนี้ คู่กรณีที่ไม่เข้าใจกระบวนการพิจารณาของศาล ก็อาจจะมองว่าศาลไม่วางตัวเป็นกลาง และในการชั่งน้ำหนักพยาน จะเป็นการพิจารณาระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์สาธารณะ และบางครั้งไม่ใช่เรื่องการชี้ถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องที่เห็นว่าเรื่องนี้ควรจะเป็นอย่างไร
3.5 ปัญหาเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ตัดสินคดี การขาดความใฝ่รู้และการไม่พัฒนาตนเองหรือขาดการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป หรือความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่พบมากในขณะนี้คือเรื่องของความรู้ความชำนาญในกฎหมายเฉพาะทาง ซึ่งส่งผลให้การตัดสินคดีอาจขาดความเป็นธรรม และปัญหาเรื่องคุณภาพของคำวินิจฉัย
4. เรื่องเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ
ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า โดยส่วนใหญ่ทนายความมีความรู้เกี่ยวกับมารยาททนายความ ส่วน
การกระทำความผิดนั้น จากประสบการณ์ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีมารยาททนายความพบว่าเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา และการลงโทษจะแบ่งตามระดับการลงโทษ ส่วนสถิติการร้องเรียนทนายความที่กระทำผิด
มีแนวโน้มที่สูงขึ้นและสถิติที่แสดงอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากอาจจะมีจำนวนมากกว่าที่ปรากฏ เพราะมีบางกรณีที่มีคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา และนอกจากนี้ยังพบว่าคดีความผิดที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นไปตามจำนวนทนายความที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีประกอบกันด้วย
สำหรับข้อสังเกตของการรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับความล่าช้าในการพิจารณาคดีมารยาททนายความนั้น สาเหตุเนื่องมาจากการที่ทนายความเป็นผู้มีความรู้ในการต่อสู้คดีความ จึงรู้วิธีการต่อสู้คดี จึงทำให้การพิจารณาคดีของคณะกรรมการเป็นไปด้วยความล่าช้า
ผู้เข้าร่วมสัมมนาให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กำลังมีการดำเนินการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยทนายความ โดยมีการเสนอให้ตัดสัดส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกไป เพราะเห็นว่าเป็นนักการเมือง และคดีที่สภาทนายความฟ้องร้องก็มักจะมีการฟ้องรัฐมนตรีรวม
เข้าไปด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น
แต่ก็มีแนวความคิดว่าหากตัดสัดส่วนรัฐมนตรีออกไป
ก็ควรมีการเสนอให้มีการเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิจากตัวแทนบุคคลภายนอกมาทำหน้าที่ในการคานอำนาจแทน รัฐมนตรีบางท่านเองก็เห็นด้วยที่จะตัดตำแหน่งนี้ไป
เนื่องจากมักถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งในคดีอาญาและคดีปกครองร่วมกับสภาทนายความด้วย ส่วนนิยามของคำว่าทนายความนั้นอาจจะให้หมายความรวมถึงที่ปรึกษากฎหมายด้วย
ในการฟ้องร้องคดีมารยาททนายความ ศาลปกครองเคยมีคำวินิจฉัยว่ากรรมการมารยาททนายความมิใช่ผู้ออก
คำสั่งทางปกครอง แต่เป็นคณะกรรมการที่อยู่ในชั้นเสนอความเห็นประกอบการพิจารณา ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ทำ
คำสั่งทางปกครองคือกรรมการบริหารของสภาทนายความ
สำหรับเรื่องการคิดค่าจ้างทนายความ ผู้เข้าร่วมสัมมนาให้ความเห็นว่า แต่เดิมประเทศไทยรับเอาธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการคิดค่าทนายความจากประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้ซึ่งแต่เดิมเคยมีแนวบรรทัดฐานของศาลว่า ห้ามคิดค่าจ้างว่าความเป็นเปอร์เซ็นต์จากลูกความนั้น ปัจจุบันแนวบรรทัดฐานดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วตามสภาพเศรษฐกิจ ในประเทศอังกฤษเองก็ได้มีการลดความเข้มงวดในแนวบรรทัดฐานที่เคยวางไว้แต่เดิมแล้ว แต่ควรมีการตรวจสอบแนวบรรทัดฐานในเรื่องนี้ที่ชัดเจนต่อไป
ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากสภาทนายความให้ความเห็นว่า เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ผู้ที่จะมาสอบใบอนุญาตทนายความควรจบการศึกษาจากเนติบัณฑิตยสภาด้วย แต่การอบรมวิชาชีพทนายความนั้นควรเป็นหน้าที่ของสภาทนายความต่อไป ส่วนเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชน เห็นว่าในขณะนี้สภาทนายความได้รับงบประมาณไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนตาม
ค่าใช้จ่ายจริงที่สภาทนายความให้การช่วยเหลือประชาชน
5 .เรื่องเกี่ยวกับบทบาทของเนติบัณฑิตยสภา
ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า เนติบัณฑิตยสภาควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการรับรองหรือไม่รับรองสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ
ผู้แทนจากเนติบัณฑิตยสภาได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการเรียนการสอนและการศึกษาในปัจจุบันของเนติบัณฑิตยสภา และกล่าวว่า ในการจัดทำกรอบสมาชิกเนติบัณฑิตยสภานั้น ในอดีตเคยมีการประชุมในปี พ.ศ.2549 ว่าจะมีการจัดทำกรอบจริยธรรมขึ้น สำหรับเรื่องกระบวนการพิจารณากลั่นกรองผู้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภานั้น ในทางปฏิบัติ เมื่อมีผู้ร้องขอเป็นสมาชิก เนติบัณฑิตยสภาจะเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกยื่นคำร้องคัดค้านหากเห็นว่าผู้สมัครสมาชิกขาดคุณสมบัติความเป็นสมาชิก โดยจะมีการประกาศต่อสาธารณชน ให้ยื่นคัดค้านภายในระยะเวลา 15 วัน และผู้สมัครจะต้องแจ้งให้ทราบว่าเคยกระทำความผิดเรื่องใดมาก่อนหรือไม่ ส่วนการสอบสวนกรณีเห็นว่าสมาชิกอาจจะเข้าข่ายผิดจริยธรรมนั้น มีหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาสามเรื่องหลัก คือ เรื่องความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดศีลธรรม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ สำหรับเรื่องการลบชื่อผู้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาในกรณีที่มีการกระทำผิดจริยธรรม ปัจจุบันในทางปฏิบัติ หากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา เนติบัณฑิตยสภาจะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพนั้นเป็นผู้สอบสวนก่อนแล้ว หากพบว่ามีความผิด เมื่อสอบสวนและ
ลงโทษแล้ว จึงจะส่งมาให้เนติบัณฑิตยสภาดำเนินการลบชื่อออกจากความเป็นสมาชิกกรณีมีการอ้างกฎหมายนิรโทษกรรม เนติบัณฑิตยสภาก็นำมาพิจารณาประกอบการรับสมัครสมาชิกด้วย
6.เรื่องอื่น ๆ
ผู้เข้าร่วมสัมมนาบางท่านได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะอื่น ๆ ดังนี้
- ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการขาดการติดตามความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายภายหลังจากที่มีการสอบเข้าเป็นพนักงานอัยการแล้ว
- ควรให้เนติบัณฑิตยสภาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย และทำหน้าที่ในการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับความผิดของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายก่อนจะส่งให้หน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบคดีต่อไป และทำหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องถอดถอนสมาชิกภาพของผู้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาในกรณีที่พบว่ากระทำผิดจริยธรรมวิชาชีพ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการกำหนดสัดส่วนของผู้แทนของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้เหมาะสม
- ควรมีการให้นิยามศัพท์คำว่าจริยธรรมและจริยธรรมวิชาชีพในงานวิจัยให้ชัดเจนมากขึ้น ว่าไม่เกี่ยวกับคุณธรรมส่วนบุคคล
- ควรมีการเผยแพร่ประมวลจริยธรรมวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ว่าได้ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมวิชาชีพที่กำหนดหรือไม่ เพียงใด
- สาเหตุของจริยธรรมวิชาชีพบางกรณีไม่ชัดเจน ควรมีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- เรื่องคุณสมบัติของผู้ศึกษากฎหมายและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย เห็นว่า จะต้องมีคุณลักษณะ มีใจรักความยุติธรรม กล้าแสดงออกและกล้ายืนหยัดในสิ่งที่
ถูกต้อง
- เรื่องเกี่ยวกับจำนวนสถาบันและการเปิดการศึกษา
เห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันมีการเปิดการเรียนการสอนกฎหมายจำนวนมาก และมีการเน้นความสำคัญแตกต่างกัน เช่น บางสถาบันเน้นด้านกฎหมายธุรกิจ
บางสถาบันเน้นด้านกฎหมายมหาชน บางสถาบันเน้นกฎหมายพื้นฐาน กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา โดยการมุ่งเน้นเพื่อมุ่งสอบเป็นผู้พิพากษาหรือพนักงานอัยการเนื่องจากมีอัตราค่าตอบแทนสูง ทั้งนี้เนติบัณฑิตยสภาจะเน้นจริยธรรมวิชาชีพในระดับสูงขึ้นมาในส่วนที่มีความสัมพันธ์กับประชาชน
จากนั้น ประธานได้กล่าวสรุปตอนท้ายว่า การค้นหาจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายก็คือเรื่องของการสร้างคน
ซึ่งต้องอาศัยทั้งการอบรมเพียงประการเดียว คงไม่เพียงพอ เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ทำหน้าที่ในการอบรม และคนที่ทำหน้าที่อบรมมีจริยธรรมเพียงพอหรือไม่ ปัจจุบัน ความเข้าใจในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ยังคงมีความสับสน จำเป็นจะต้องวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
ในส่วนของจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สิ่งที่ขาดหายไปคือศูนย์กลางในการควบคุมดูแล และขาดการติดตามตรวจสอบเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอยู่ในกรอบจริยธรรมอย่างเข้มแข็ง การส่งเสริมจริยธรรมในสังคมจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่ระบบความยุติธรรมอย่างยั่งยืนต่อไป
เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว ประธานได้กล่าวขอบคุณ
ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน และได้กล่าวปิดการประชุม
เลิกประชุมเวลา 12.00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น