สรุปการสัมมนาโครงการวิจัย “ จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย ครั้งที่
2 ”
วันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2555
ณ ห้องประชุม 3 อาคาร 2 สำนักงาน ป.ป.ช. (ถนนพิษณุโลก)
___________________
เมื่อเวลา 9.00 น. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ หัวหน้าโครงการวิจัย “ จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย ” นำเสนอรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับงานวิจัยจริยธรรมในวิชาชีพ รายงานสรุปผลการสัมมนา สืบเนื่องจากการสัมมนาเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2554 และผลการวิเคราะห์ข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ ข้อมูลการวิเคราะห์ที่ได้จากการจัดเก็บแบบสอบถามจากประชาชน และผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย
ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา กรรมการ ป.ป.ช. เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ Thai Public
Organization หนังสือพิมพ์ มติชน ข่าวสด สปส. สภาทนายความ สำนักงานสิทธิโชค ศรีเจริญ
ทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาล
รัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลปกครอง เป็นต้น สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวเปิดการสัมมนา และกล่าวว่า ประเทศไทย ปัจจุบันมีปัญหาจริยธรรมที่ค่อนข้างจะหนักหนามาก และประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เพราะเราไม่เคยมีการสร้างความมั่นคงด้านจริยธรรมตั้งแต่ในชั้นมหาวิทยาลัย หลักสูตรการศึกษามีการจัดทำแบบ “ ขอไปที ” ซึ่งแตกต่างกับในต่างประเทศที่มีการให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างยิ่ง จากการศึกษารายงานในต่างประเทศ พบว่า มีการปลูกฝังเพื่อให้มี “ professionalism ” กล่าวคือ นอกจากจะทำให้นักศึกษามี integrity , honor , fairness แล้ว ยังต้องประกอบไปด้วย commitment to justice ตั้งแต่อยู่ในระดับมหาวิทยาลัย หมายความว่า ในความคิดของความยุติธรรมและต้องไม่คลาดเคลื่อนจากความยุติธรรม จะต้อง respect to the rule of law โดยจะต้องปลูกฝังนักศึกษาให้งอกงาม ไพบูลย์ ในเรื่องความยุติธรรมและหลักนิติธรรม
สุดท้ายจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี การวางตัว การแต่งตัว การปฏิบัติต่อลูกความ เพื่อนร่วมวิชาชีพ ด้วยความเคารพเลื่อมใสซึ่งกันและกัน และจะต้องไม่มีอคติต่อชนกลุ่มน้อยในสังคมที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมกัน การไม่ปล่อยตนเองให้ตกต่ำ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการสอนในมหาวิทยาลัยของไทย
พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรมีการรื้อระบบการศึกษาใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาในชั้นมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่จะต้องมีการต่อยอดไปในระดับทนายความ อัยการ ศาล และจะผิดหวังมาก หากมหาวิทยาลัยไม่ให้ความร่วมมือ แต่เดิมในการศึกษาวิจัยไม่ได้ตั้งใจที่จะนำมหาวิทยาลัยมาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อมีการศึกษาลงลึกในรายละเอียด พบว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเริ่มต้นตั้งแต่ในชั้นมหาวิทยาลัยซึ่งเปรียบเทียบได้ดั่งเช่น “ ช่างปั้นหม้อ ” ซึ่งองค์กรวิชาชีพจะรับต่อผลงานจากช่าง หากปั้นมาไม่ดีตั้งแต่แรก ก็เป็นการยากที่จะมา “เคลือบ” หรือ “เผา” ต่อไปให้ได้ดี องค์กรวิชาชีพจึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทช่วยกันรื้อฟื้นจริยธรรมวิชาชีพในชั้นมหาวิทยาลัยด้วย
จากผลการระดมความคิดเห็นในการสัมมนาวันที่ 20 กรกฏาคม 2554 มีความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางตรงกันคือจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการปลูกฝัง การให้การศึกษา ค่านิยมที่ถูกต้อง จำเป็นที่จะต้องมีการสอนคุณค่าของชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่ง core value เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ปัจจุบันที่พบเห็นนักการเมืองเปิดคลิปวีดีโอในห้องประชุมรัฐสภานั้น อย่าไปโทษนักการเมือง เพราะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการสอนสั่งตั้งแต่เด็กว่า core value ของคนแต่ละกลุ่มควรเป็นอย่างไร รวมทั้งนักกฎหมายควรมี core value อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สถาบันวิชาชีพทั้งหลาย ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของผู้ตรวจสอบด้วย จะทำอย่างไรจึงจะช่วยกันสร้าง และต้องช่วยกันบอกว่าควรจะทำอย่างไร
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เคยตรัสกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะเมื่อไม่นานมานี้สรุปสาระสำคัญได้ว่า คนสมัยนี้ไม่เหมือนเมื่อสมัยก่อน การจะสอนให้คนไม่ทุจริต ต้องสอนอย่างละเอียด ความดีคืออะไร ต้องอธิบายและยกตัวอย่าง ซึ่งตรงกับการศึกษารายงานในต่างประเทศ ในเรื่องการให้การศึกษาว่า จะต้องบอกให้รู้ว่า อะไรคือ unprofessionalism เห็นได้ว่า ระบบความคิดในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตซึ่งเด็กสมัยใหม่ไม่ยอมรับแล้ว
จากการเก็บข้อมูลพบว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีหลักพระพุทธศาสนา แต่ขาดการนำมาปรับใช้อย่างเป็นระบบ ว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ แม้จะมีการรับศีลในงานพิธี แต่เรานำมาปฏิบัติมากหรือน้อยเพียงใด แตกต่างกับต่างประเทศ ในต่างประเทศจะมีการนำหลักศาสนาคริสต์ หรือศาสนาอิสลามมาแปลงเป็น code of conduct เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต
จากการระดมความคิดเห็นการสัมมนาในครั้งก่อน มีความเห็นแยกเป็นสองความเห็นคือ ความเห็นที่ 1 เห็นว่าควรมีองค์กรกลางทำหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพ มีข้อสังเกตว่าในต่างประเทศ จะมีองค์กรกลางทำหน้าที่ในการกำกับดูแลซึ่งก็คือเนติบัณฑิตยสภา (Bar Association) แต่เนติบัณฑิตยสภาไทยมีปัญหาคือ ไม่ต้องการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์กรวิชาชีพ กล่าวคือ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ก็มักจะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพนั้น ๆ เป็นผู้ตรวจสอบ โดยเนติบัณฑิตยสภาไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบเอง เมื่อองค์กรวิชาชีพตรวจสอบเรียบร้อยแล้วจึงจะส่งเรื่องให้เนติบัณฑิตยสภาทราบเพื่อให้ดำเนินการถอนชื่อออกจากสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยยึดหลักเคารพในการทำงานของกลุ่มวิชาชีพแต่ละกลุ่ม
ส่วนความเห็นที่ 2 เห็นว่า การกำกับดูแลองค์กรวิชาชีพ ควรให้เป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพแต่ละกลุ่มดูแลกันเอง มีข้อสังเกตว่า หากให้องค์กรแต่ละองค์กรดูแลกันเอง ก็ควรมีการสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลให้มากขึ้น แตกต่างจากในต่างประเทศ เนติบัณฑิตยสภาจะมีอำนาจสั่งการให้องค์กรวิชาชีพแต่ละกลุ่มปฏิบัติตามได้ เช่น การบอกให้ขีดชื่อผู้ประกอบวิชาชีพที่กระทำการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพออก เป็นต้น และทุกองค์กรต้องปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ในการสัมมนาครั้งก่อนยังได้มีการกล่าวถึงเรื่องสาเหตุของปัญหา เรื่องเกี่ยวกับทนายความ บทบาทของเนติบัณฑิตยสภา เป็นต้น (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารประกอบการสัมมนา) พิจารณาแล้วเห็นว่า เนติบัณฑิตยสภาควรเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลด้านจริยธรรมวิชาชีพมากขึ้น กว่าบทบาทด้านการให้การศึกษาเพียงประการเดียว
กล่าวโดยสรุปคือ ความเข้าใจในเรื่องจริยธรรม ปัจจุบันยังคงมีความสับสน ทั้งเป้าหมาย จุดมุ่งหมาย และความหมายในความเข้าใจของบุคคลทั่วไป อีกทั้งระบบและองค์กรยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันและมีช่องว่างระหว่างกันอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรมีการกำหนดให้เข้าใจตรงกัน
องค์กรวิชาชีพทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นศาล อัยการ ทนายความ ศาลปกครอง ยังไม่เคยมีการประชุมระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพในทุกสาขากับประชาชนในระดับประเทศเพื่อให้มีการลงมติ การผลักดันและรับไปดำเนินการด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับจริยธรรม การส่งเสริมจริยธรรมจะเท่ากับเป็นการส่งเสริมระบบความยุติธรรมด้วย เพราะความยุติธรรมคือหัวใจสำคัญของจริยธรรม
ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์การให้สัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 28 คน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่องการขาดปลูกฝังค่านิยม ความรู้ ในการศึกษาเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ การมีมาตรฐานการเรียนการสอนด้านจริยธรรมที่ต่ำและน้อยเกินไป ซึ่งจำเป็นต้องมีการรื้อปรับปรุงระบบใหม่ มีข้อสังเกตว่า ในประเด็นปัญหาที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ที่อยู่ภายนอกเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่ผู้เชี่ยวชาญที่มาจากสถาบันการศึกษากลับมองไม่เห็นปัญหานี้ เหมือนกับ “ นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ ” และไม่เข้าใจว่า ตนเองว่ายได้เพราะอะไร นกบินได้เพราะอะไร ปลาว่ายน้ำได้เพราะอะไร
ในอดีต เคยมีแนวความคิดเรื่องการมีสภาการศึกษาด้านนิติศาสตร์ เพื่อให้เกิดการสร้างมาตรฐานการศึกษาที่ตรงกันนั้น ปัจจุบันแนวคิดนี้หายไป จึงควรมีการพิจารณารื้อฟื้นความคิดนี้ขึ้นมาใหม่หรือไม่ อย่างไร
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันคือ เรื่องปัญหาการบริหารงานบุคคลในองค์กรวิชาชีพ เรื่องนี้ ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้เคยเขียนบทความเสนอแนะ การปรับปรุงการบริหารงานบุคคลของ ก.ต.ไว้ว่าควรมีการรื้อปรับระบบ ก.ต.
มีข้อสังเกตว่า ปัญหาด้านการบริหารงานบุคคลขององค์กร เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกองค์กร และมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย แนวความคิดเรื่อง professionalism หายไป เพราะปัญหาการที่ชีวิตต้องดิ้นรนมากขึ้นและเรื่องผลประโยชน์มาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ขณะนี้พบว่า
ผู้ที่ทำงานมักจะถามเรื่องอัตราค่าตอบแทน ผลประโยชน์ว่าจะได้เท่าใด มากกว่าจะถามถึงเรื่องประสิทธิภาพการทำงานว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้งานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล จะให้ถึงมือประชาชนมากที่สุด สิ่งเหล่านี้ บางส่วนมาจากการปลูกฝังค่านิยมจากครอบครัวที่สนับสนุนให้ลูกหลานได้ทำงานที่มีเงินเดือนมาก
ปัญหาการทุจริตและการฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีสำคัญ ปัจจุบันผู้ที่ทำหน้าที่เป็น เจ้าภาพหลักในการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ปฏิบัติตามจริยธรรมคือผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ในภาคเอกชน ได้แก่ สภาทนายความ นั้น ยังคงขาดความชัดเจนในเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจสอบที่ ตรงกัน
ปัญหาเรื่องการขาดต้นแบบด้านจริยธรรมวิชาชีพก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ มีข้อสังเกตว่าในต่างประเทศ จะมีข้อมูล ตำราเรียน ที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพเป็นจำนวนมาก แตกต่างกับประเทศไทย มีข้อมูลค่อนข้างน้อย ทั้งในด้านตำรา เอกสาร ข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมีน้อย ซึ่งต่างจากในต่างประเทศที่จะมีการเก็บข้อมูลเป็นระยะ ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้ทราบว่าบุคคลภายนอกมีความคิดเห็นอย่างไรกับองค์กร อันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปรับปรุงองค์กรต่อไป
เรื่องคุณธรรม เป็นฐานของจริยธรรม แต่มีความแตกต่างกันที่จริยธรรมจะต้องมี professionalism ด้วย
นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่า จริยธรรมในวิชาชีพมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดฐานข้อมูลที่สมบูรณ์หรือมีข้อมูลแต่น้อยเกินไป ปัญหาเรื่องการร้องเรียนต่อสู้คดี การขาดระบบการคุ้มครองผู้ที่ให้ข้อมูลหรือพยาน ปัญหาการขาดมาตรฐานกลางในการตรวจสอบ ปัญหาเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ปัญหาเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม ซึ่งแต่เดิมเป็นเรื่องจริยธรรมแต่ปัจจุบันเป็นเรื่องที่มีการผิดกฎหมายตามมาตรา 100 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งคงจะต้องมีการสร้างความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไปว่าถ้าเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม จะต้องเลือกประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก รวมถึงมาตรา 103 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ ที่มีบทบัญญัติห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำแหน่งรับของที่มีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท เว้นแต่เป็นเรื่องธรรมจรรยา ซึ่งจะต้องมีการปลูกฝังกันและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป หากผู้ใดฝ่าฝืน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในเบื้องต้นที่มีการบังคับใช้กฎหมายจะมีหน่วยงานให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทราบด้วย
สำหรับปัญหาการขาดผู้เชี่ยวชาญในการต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นกัน กล่าวคือ เป็นเรื่องของการขาดทนายความของประชาชน ในต่างประเทศ เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป จะมีสำนักงานช่วยเหลือประชาชน สังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ แตกต่างกับประเทศไทยที่ผลักภาระการช่วยเหลือประชาชนด้านคดีให้แก่สภาทนายความ แต่ไม่ได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเพียงพอ การจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ทนายความ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการวางระบบ และกระบวนการให้ชัดเจน
ความแตกต่างอีกประการคือ ในต่างประเทศ จะมีการจัดอบรมประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อที่จะได้มีการช่วยเหลือกันเบื้องต้นในระดับชุมชน แต่หากเป็นคดียุ่งยากซับซ้อนจึงจะมาใช้ผู้เชี่ยวชาญคดีเข้ามาช่วยเหลือ
สรุปภาพรวมจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ปัญหาที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ปัญหาเรื่องการขาดการปลูกฝัง ค่านิยม ความรู้ ในการศึกษาเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ การมีมาตรฐานการเรียนการสอนที่ต่ำและน้อยเกินไป รองลงมาคือปัญหาการบริหารงานบุคคลในองค์กร เป็นต้น
ในด้านผลกระทบที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพ ส่วนใหญ่เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมขาดความเที่ยงธรรมทั้งระบบ สังคมเกิดความสับสนวุ่นวาย เกิดวิกฤตศรัทธา เกิดการร้องเรียนในเรื่องสองมาตรฐานเพราะความไม่เข้าใจ และนักกฎหมายไม่สามารถตอบคำถามได้ ทำให้ประชาชนหันไปพึ่งระบบอุปถัมภ์ ไม่พึ่งพากฎหมาย ไม่เคารพกฎหมาย มีการเดินขบวนประท้วง เพราะขาดคนที่จะบอกว่าสิ่งใดควรทำ ไม่ควรทำ สังคมมองผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในด้านลบ การขาดการปลูกฝังและการให้ความรู้ด้านจริยธรรมวิชาชีพจะทำให้เกิดการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ
การรักษาสัจจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าสู่การแข่งขันระหว่างประเทศ ในปี 2008 จะเข้าสู่การเปิดเสรีอาเซียน การค้า และการลงทุน หากประเทศไทยและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายขาดความจริงใจ ไม่รักษาสัจจะ ไม่รักษาคำพูด จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านเศรษฐกิจและการลงทุน นักกฎหมายต้องกล้าบอกว่าอะไรผิด อะไรถูก ต้องใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม ต้องกล้าแสดงความคิดเห็น ผู้พิพากษาต้องให้เหตุผลที่ ชัดแจ้งในคำพิพากษา สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา คำพิพากษาของศาลจะอธิบายเหตุผล การใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดีอย่างชัดแจ้งว่าตัดสินอย่างนี้เพราะอะไร
สำหรับเรื่องกลไกการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านจริยธรรม จริยธรรมวิชาชีพ คณะกรรมการที่ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลนั้นจะต้องมีการดำเนินการให้มีกระบวนการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และควรมีมาตรฐานกลางสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ชัดเจนด้วย
คำถามคือ ควรจะมีการสร้างเนติบัณฑิตยสภาเป็นองค์กรกลางหรือไม่ อย่างไร หรือว่าควรมีองค์กรกลางอื่นหรือไม่ ส่วนระดับมหาวิทยาลัย ควรมีองค์กรกลางเป็นสภานิติศึกษาหรือไม่ อย่างไร ในประเทศสหรัฐอเมริกา เนติบัณฑิตยสภาจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน มีกระบวนการในการตรวจสอบ และมีตัวอย่างคดีให้เห็นว่าเรื่องใดกระทำได้หรือไม่
เรื่องเกี่ยวกับสภาทนายความ มีการเสนอว่าควรตัดสัดส่วนรัฐมนตรี ในฐานะสภานายกพิเศษออกไป เพราะปัจจุบัน ศาลปกครองได้เข้ามาทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ส่วนการตรวจสอบ ผู้ร้องเรียนนั้น มีข้อเสนอแนะว่าควรมีระบบการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลและการกันบุคคลไว้เป็นพยานเหมือนกันกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ที่มีการบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
จากนั้น ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ ได้กล่าวรายงานสรุปผลการวิเคราะห์ที่ได้จากแบบสอบถามซึ่งแบ่งได้เป็น 6 ตอนคือ
ตอนที่ 1 ความคิดเห็นของประชาชน
ตอนที่ 2 ความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม
ตอนที่ 3 ความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครอง
ตอนที่ 4 ความคิดเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ตอนที่ 5 ความคิดเห็นของอัยการ
ตอนที่ 6 ความคิดเห็นของทนายความ
โดยนำเสนอในประเด็นเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ผลการประเมินระดับการฝ่าฝืนจริยธรรม (เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย) สาเหตุของปัญหา ผลกระทบของปัญหา กลไกการควบคุมความประพฤติ และข้อเสนอแนะ ซึ่งในการเก็บข้อมูล เก็บจากพื้นที่ 4 จังหวัด คือจังหวัดกรุงเทพ
มหานคร นครราชสีมา สงขลา และเชียงใหม่
ผลสรุปที่ได้จากการตอบแบบสอบถาม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อมั่นใน
ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย คิดเป็นร้อยละดังนี้คือ ผู้พิพากษา 81.09 % อัยการ 74.99 % และ
ทนายความ 61.50 % โดยในการเก็บข้อมูล คณะผู้วิจัยได้มีการเก็บข้อมูลจากประชาชนที่ได้มีการ
มาใช้บริการจากศาลและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาและมีคุณภาพ
สำหรับสาเหตุของปัญหาจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายตามความคิดเห็นของประชาชน
พบว่ามีความคิดเห็นสอดคล้องกันกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ กล่าวคือ เห็นว่า เกิดจากการขาดการ
ปลูกฝังอุดมการณ์ จิตสำนึก การให้ความรู้ด้านจริยธรรมอย่างลึกซึ้ง รองลงมาคือปัญหาที่มาจาก
การไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์ ค่านิยมและวัฒนธรรมของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับ
วัตถุ เงิน อำนาจ มากกว่าการรักษาคุณค่าจริยธรรมในวิชาชีพ และเชื่อว่ามีการแทรกแซงการ
วินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือการเมือง ตามลำดับ
น้อยที่สุดได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพขาดการจำแนกหมวดหมู่ที่เข้าใจง่าย มี
ความซับซ้อน หรือขาดหมวดหมู่ที่ควรจะระบุไว้ให้ชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 31.31 รองลงมาได้แก่
เนื้อหาสาระที่กำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพมีมากเกินไปและไม่สอดคล้องกับ
สภาวการณ์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 33.17 และการขาดการ
จัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพที่สมบูรณ์ อันส่งผลให้เกิดการขาดการเรียนรู้เพื่อ ลดข้อผิดพลาดในระบบ ตามลำดับ
ต่อจากนั้น ได้มีการนำเสนอข้อมูลที่ได้มีการวิเคราะห์จากแบบสอบถามในกลุ่มผู้ประกอบ
วิชาชีพกฎหมายในแต่ละกลุ่ม (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารประกอบการสัมมนา) และมี
ข้อสังเกตเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้
· การจัดลำดับความร้ายแรงในส่วนของการประเมินจริยธรรม ผู้พิพากษาบางส่วนยังคง
มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับลำดับความร้ายแรง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการนั่งพิจารณาคดีตรง
ตามเวลา หรือในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้พิพากษาไม่ควบคุมให้การออกหมาย
หรือคำบังคับ ตรงตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และไม่ออกโดยพลัน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก
แต่ผู้พิพากษาบางส่วนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญในระดับปานกลาง หรือเรื่องการที่ผู้พิพากษาไม่ถอนตัว
จากการพิจารณาและพิพากษาคดี เมื่อมีเหตุที่ตนเองอาจถูกคัดค้านได้ตามกฎหมาย หรือมีเหตุ
ประการอื่นเกี่ยวกับตัว ผู้พิพากษา อันอาจทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมและ
กระทำการใดอันเป็นการจูงใจให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นในภายหลังในประการที่จะ
ทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรม นั้น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมบางส่วน เห็นว่ามีความร้ายแรง
ในระดับปานกลางหรือการที่ ผู้พิพากษารับเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือ ผู้ประนอมข้อพิพาทซึ่ง
ประเด็นนี้เป็นเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ (conflict of interest) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
มากและเป็นประเด็นที่อาจจะถูกโต้แย้งได้ในภายหลัง จึงต้องให้ความระมัดระวังมาก
· มีข้อสังเกตว่า ในการจัดลำดับความร้ายแรงจากการประเมินระดับการฝ่าฝืนจริยธรรม
และการให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหานั้น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมและตุลาการศาลปกครอง จะมีการให้ความเห็นเป็นไปในทิศทางที่คล้ายกัน โดยตุลาการศาลปกครองจะให้ความสำคัญกับเรื่อง การสัมมนา และการศึกษาอบรม สำหรับอัยการ ส่วนใหญ่จะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์เป็นอย่างดี
· เรื่องทนายความ มีข้อสังเกตว่า จะต้องมีการให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหางบประมาณที่
ไม่เพียงพอ โดยควรมีการสนับสนุนให้มีการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม
จากนั้น ที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็น อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง
สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.เรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบจริยธรรม
สมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ควรมีการจัดทำบันทึกทะเบียนประวัติ
จริยธรรมและการตรวจสอบจริยธรรมอย่างจริงจังตามรัฐธรรมนูญ โดยได้มีการยกตัวอย่าง
เปรียบเทียบการตรวจสอบประวัติด้านจริยธรรมในวิชาชีพแพทย์ ที่จะมีการตรวจสอบตั้งแต่ใน
ระดับการรับนักศึกษา และในการเรียนการสอนจะมีการสอดแทรกจริยธรรมวิชาชีพตลอดเวลา
มีการปฏิญาณตนเมื่อเรียนจบ มีการจัดทำทะเบียนประวัติด้านจริยธรรม และจะมีกระบวนการ
การลงโทษกรณีที่มีการฝ่าฝืนจริยธรรม ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมวิชาชีพของ
แพทย์ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับงานกระบวนการยุติธรรมคือในส่วนของพยานผู้เชี่ยวชาญ และคดี
ฟ้องร้องที่เกี่ยวกับคดีแพทย์มีการกระทำความผิดจริยธรรม หรือกรณีเรื่อง Living Will (การตายอย่างมี ศักดิ์ศรีตามการแสดงเจตนาของผู้ป่วย) ซึ่งเมื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับจริยธรรมของนักกฎหมาย แล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากนักกฎหมายไม่มีจริยธรรม ก็จะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี แก่ประชาชน
ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันการขาดจริยธรรมจะถือว่า
เป็นการผิดวินัยด้วย
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ชัดเจนในหมวด 13 มาตรา 279 , 280 ซึ่ง ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด และได้กำหนดการลงโทษไว้ว่า หากกระทำการฝ่าฝืน ถือว่าเป็นการผิดวินัย ถ้าเป็นกรณีที่เป็นการกระทำร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ
ในการกำหนดค่านิยม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่หนึ่งเป็นค่านิยมหลักที่ใช้ทั่วไปทุกส่วนราชการ ส่วนที่สองเป็นจริยธรรมเฉพาะของหน่วยงานนั้น ส่วนที่ 3 เป็นเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมด้วย แต่ถ้าเป็นส่วนราชการอื่นที่ไม่ใช่องค์กรวิชาชีพก็อาจจะมีกำหนดไว้เฉพาะส่วนที่ 1 และ 2 และมีข้อสังเกตว่า ปัจจุบัน เนติบัณฑิตยสภามีบทบาทค่อนข้างน้อยในเรื่องของการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพ จึงน่าจะมีหน่วยงานกลางที่ ทำหน้าที่ในการดูภาพรวม และที่สำคัญคืออาจารย์ผู้สอนกฎหมายจะต้องมีจริยธรรมและเน้นการปลูกฝังด้านจริยธรรมด้วย จะเห็นได้ว่าการ ปลูกฝังมีผลต่อผู้ทำหน้าที่ในรัฐสภา กล่าวคือสมาชิกรัฐสภาบางท่านอภิปรายโดยขาดการยึดหลักการและเหตุผล
- มีข้อสังเกตว่า ในการตรวจสอบองค์กรวิชาชีพนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินประสบปัญหา เรื่องการไม่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรที่ถูกตรวจสอบ โดยองค์กรที่ถูกตรวจสอบอ้างเรื่องความ เป็นอิสระ และปัญหาคดีมีความล่าช้า
- ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีมีการร้องเรียนว่า
ผู้พิพากษากระทำความผิดด้านจริยธรรม มักมีผู้แนะนำว่าให้มีการขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่การ
ร้องเรียนดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญ ซึ่งควรมีการไต่สวนให้ความจริงปรากฏมากกว่าจะกระทำ
เพียงแค่การโยกย้ายเท่านั้น ปัจจุบันมีข่าวลือว่ามีการวิ่งเต้นตั้งแต่หัวหน้าถึงลูกน้องหรือไม่ อย่างไร
- ปัญหาของทนายความที่กระทำผิด ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องการยักยอก ฉ้อโกง ตระบัดสินลูกความ มากที่สุด และบางกรณีมีปัญหาเรื่องระบบพวกพ้องช่วยเหลือกัน เหมือนดังที่ อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์
ได้เคยให้ความเห็นเตือนเกี่ยวกับทนายความไว้ว่า ไม่เชื่อมั่นว่าทนายความจะสามารถควบคุมกันเองในองค์กรได้
- ควรมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับทนายความในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่กระทำผิดหรือฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพ
2.เรื่องการปลูกฝัง การให้ความรู้ และการปรับปรุงการเรียนการสอน
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า ควรมีการทบทวนบทบาทของเนติบัณฑิตยสภา โดยเฉพาะในเรื่องการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ ในอดีตเคยมีการผลักดันที่จะพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอน แต่มี ผู้คัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าให้ยึดแต่หลักสูตรการเรียนการสอนเดิมเท่านั้น ทำให้การเรียนการสอนด้านกฎหมายไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร และให้ความสำคัญแต่เฉพาะกฎหมายหลัก “ สี่มุมเมือง ” (กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง) ทำให้ขาดนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีข้อเสนอแนะคือให้เนติบัณฑิตยสภามีการ ทบทวนในเรื่องการผลิตนักกฎหมายเฉพาะด้านด้วย
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการสอนด้านจริยธรรมวิชาชีพในปีแรกของการเข้าศึกษา ดังนั้น
ประเทศไทยควรกำหนดให้นักศึกษาปีที่หนึ่งได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องจริยธรรมวิชาชีพตั้งแต่
แรกเข้าศึกษากฎหมายในระดับมหาวิทยาลัย โดยจะต้องค้นหาอาจารย์ผู้สอนที่มีความสามารถสูง
ระดับปรมาจารย์ในอดีต เช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ มาสอนจริยธรรม
วิชาชีพแก่นักศึกษาเพื่อให้มีอุดมการณ์ในวิชาชีพ เนื่องจากวงการนักกฎหมายเป็นวงการที่มี
ความสำคัญมาก เพราะเป็นวงการที่จะสร้างความมั่นใจในการก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำ เป็น
นักการเมืองในรัฐสภา จึงต้องมีการปรับทัศนคติและต้องมีการสอดแทรกจริยธรรมตลอดเวลา โดย
การยกตัวอย่างคดีต่าง ๆ มาให้นักศึกษาเห็น รวมถึงการยกตัวอย่างนักกฎหมายต้นแบบที่ดี การสร้าง
ความเข้มแข็งในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมไปสู่สาธารณชนให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันสังคมกำลังขาดสิ่ง
นี้อย่างมาก และยังมีปัญหาเรื่องความรู้ไม่จริง และไม่รอบรู้ แต่คิดว่าตัวเองรู้ ซึ่งเป็นมายาคติ และ
การขาดเรื่องหิริโอตตัปปะ ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป การขาดความชอบธรรม
ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นว่า ประเด็นที่มีความสำคัญมากในงานวิจัยนี้
คือเรื่องของปัญหาการขาดการปลูกฝังด้านจริยธรรมนั้น ปัจจุบัน การศึกษาให้ความสำคัญในเรื่อง
จริยธรรมน้อยลง แม้แต่ในการทำงาน คนก็มีความเข้าใจในเรื่องนี้น้อยลง และมีความเข้าใจสับสน ทั้งเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณก็ไม่มีความชัดเจน และเห็นว่า สิ่งที่ ป.ป.ช.ควรเร่งดำเนินการคือ การสร้างค่านิยมของสังคมให้เห็นความสำคัญ
ขณะนี้มีค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง เช่น เรื่องการซื้อขายตำแหน่ง เห็นว่าใครมีศักยภาพในการซื้อตำแหน่งได้ เป็นผู้ที่มีศักยภาพสูง มีความสามารถ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นวิกฤตจริยธรรม นอกจากนี้ การที่ปัจจุบันระบบราชการให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารราชการ ตัวชี้วัด กับเรื่องของคะแนนตัวเลข มากกว่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นพื้นฐานคือจิตใจ หน่วยงานราชการขณะนี้หันไปแข่งขันกันในด้านตัวเลข คะแนน มากกว่าด้านคุณธรรม จริยธรรมซึ่งแตกต่างกับสมัยก่อน
มีข้อสังเกตว่า อาจารย์ผู้สอนบรรยายด้านจริยธรรมก็หายาก เพราะมักจะถูกย้อนถามเรื่อง
การกระทำส่วนบุคคล วิธีการที่จะทำให้ความคิดเปลี่ยน จะต้องมาให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา
วิชาชีพกฎหมาย จะต้องมีการทบทวน และมีการสร้างค่านิยมที่สามารถแยกความถูกต้องและแยก
ความผิดออกจากกันได้
การปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องในมหาวิทยาลัย คงจะไม่เพียงพอ ต้องมีการปลูกฝังใน
ครอบครัวและสังคมด้วย การที่ครอบครัวมีคำอวยพร ดังคำกล่าวที่ว่า “ โตขึ้นขอให้ได้เป็นใหญ่
เป็นโต ” “ ขอให้มีเงินทอง” เป็นการปลูกฝังที่แทรกแนวความคิดการให้ความสำคัญกับคนที่มี
ตำแหน่งหน้าที่ และมีเงิน มากกว่าจะเน้นให้เป็นคนดี หรือการไปวัด แล้วพระบอกว่า “ ให้ทำบุญ
จะได้ไปสวรรค์ ” ก็สะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้เน้นเรื่องการปลูกฝังเรื่องหิริโอตตัปปะ การปลูกฝังใน
ชั้นการศึกษาในระดับโรงเรียนมีการสอนในลักษณะให้เน้นการสอบผ่าน ไม่ได้สอนโดยเน้นเรื่อง จิตวิญญาณ และการสอนเป็นลักษณะการสอดแทรกจริยธรรมเท่านั้น
ในชั้นมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ขาดการให้ความสำคัญด้านการสอนจริยธรรม แนวโน้มเป็นแบบ “ จ่ายครบ จบแน่ ” ส่วนการศึกษาในระดับเนติบัณฑิตยสภาเป็นการศึกษาตอนปลายแล้ว เพราะคนถูกสร้างด้วยจิตวิญญาณซึ่งไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน คงจะเป็นการยาก มีข้อเสนอแนะว่าในระยะยาวควรมีการปรับปรุงทั้งระบบการศึกษา อาจจะต้องมีค่านิยมแห่งชาติ การกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายแห่งรัฐ
ในระยะสั้น ควรมีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน โดย ก.อ. ต้องทำให้เป็นระบบ โปร่งใส ตรวจสอบได้
มีข้อสังเกตว่าโครงสร้างของ ก.อ. ควรมีการปรับปรุง เพราะปัจจุบันอัยการสูงสุดเป็นประธาน ก.อ.โดยตำแหน่ง หากมีกรณีที่ผู้ตรวจสอบกับผู้ที่ถูกตรวจสอบเป็นบุคคลเดียวกัน จะเกิดปัญหาด้านประสิทธิภาพ หากมีกรณีที่มีการตรวจสอบโดยตนเอง หรือการตรวจสอบบางกรณีไม่อยู่ในการตรวจสอบของ ป.ป.ช. เช่น การอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง การดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ควรได้รับความคุ้มครองหรือไม่ อย่างไร เพราะกฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีเป็น ผู้แต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ จึงอาจเป็นการตอบแทนบุญคุณกันหรือไม่ จะมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระและความเป็นกลางหรือไม่ ข้อเสนอแนะคือ ควรตัดสัดส่วนกรรมการโดยตำแหน่งออกไป จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะอื่น ๆ
- ควรมีการเสนอให้ทุกมหาวิทยาลัยกำหนดให้มีการสอนวิชานิติปรัชญา และวิชาจริยธรรมวิชาชีพ หลักในการตีความกฎหมาย
- กรณีมีคดีที่อัยการและ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการร่วมกัน หากคู่ความในคดีเป็นอัยการ เสนอแนะว่า ไม่ควรมีการตั้งอัยการในอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. เพราะอาจจะทำให้คดีล่าช้า และวุ่นวาย
ผู้แทนจากสำนักงานสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความ ให้ความเห็นว่า การสอนจริยธรรมวิชาชีพเป็นวิชาที่ อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้ให้ความสำคัญและมีสอนในมหาวิทยาลัยมาจนถึง ทุกวันนี้ แต่เดิมเคยมีความคิดว่าทุกมหาวิทยาลัยต้องมีการสอนวิชานี้ แต่ปัญหาที่พบคือเรื่องการขาดแคลนตำราเรียน ข้อมูลน้อย และขาดแคลนผู้สอน ข้อเสนอแนะคือ หากมีเจ้าภาพดำเนินการ ในลักษณะสภานิติศึกษาก็จะเป็นเรื่องดี
ในการอบรมของสภาทนายความ ปัจจุบันการให้ใบอนุญาตได้ยากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้มีใบอนุญาตไม่ได้ประกอบวิชาชีพทนายความกันทุกคน แต่เพื่อใช้ในการทำงานบริษัทหรือองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น
มีข้อสังเกตว่า จากการสอบสวนคดีความพบว่า ผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายมักไม่ใช่พวกมืออาชีพ แต่เป็นผู้ที่รู้กฎหมายในระดับหนึ่งเท่านั้น
สำหรับการอบรมจริยธรรมวิชาชีพ เคยมีการเสนอให้เข้าค่ายจริยธรรม แต่ปัญหาที่พบคือการขาดแคลนงบประมาณ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดแคลนงบประมาณจำนวนมากในการช่วยเหลือประชาชน ทนายความขอแรงบางคน บางพื้นที่ ทำงานช่วยเหลือประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำงานเพื่อสังคมอย่างมาก แต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเพียงพอ ส่วนใหญ่พบว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด
ส่วนในการดำเนินคดีสอบสวนมารยาททนายความก็มีการกระทำการลบชื่อทนายความที่ฝ่าฝืนมารยาททนายความเป็นประจำทุกเดือน โดยไม่เกรงกลัวกระแสกดดันที่ไม่ถูกต้อง
กรรมการ ป.ป.ช. ท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับการศึกษาอบรมผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมาก เพราะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียกำหนดว่าผู้ที่สามารถเรียนกฎหมายได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสาขาอื่นมาก่อน จึงจะสามารถมาเรียนกฎหมายได้ เพราะกฎหมายมีความสำคัญสูงมาก คนใช้กฎหมายจะต้องรักษากฎหมายและเป็นผู้ทำหน้าที่ในการคุมกฎด้วย
ในออสเตรเลีย คนที่เรียนกฎหมายจะเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง และผู้ที่เลือกเรียนกฎหมายมีมากกว่าเลือกเรียนแพทย์ ผู้ใช้กฎหมายจะต้องมีการศึกษาใฝ่หาความรู้ด้านอื่นประกอบด้วย และอาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้ให้แนวความคิดที่ถูกต้องว่าความเป็นธรรมว่าคืออะไร ในประเทศไทย อาจารย์ผู้สอนที่เป็นต้นแบบ เช่น อาจารย์หยุด แสงอุทัย อาจารย์ประกอบ หุตะสิงห์ เป็นต้น ในต่างประเทศจะมีการศึกษาปรัชญาในระดับสูงมาก จะศึกษาว่าความดีคืออะไร ความถูกต้องคืออะไร ข้อเสนอแนะคือให้มีการเรียนกฎหมายเป็นเวลา 6 ปี โดยจะต้องมีการศึกษาวิชาอื่นประกอบด้วย
ผู้แทนจากผู้ประกอบวิชาชีพทนายความให้ความเห็น สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.นักกฎหมายจะเป็นผู้มีจริยธรรมได้อย่างไร หากคนในสังคมเป็นผู้ที่ไม่มีจริยธรรม
วิธีคิดของผู้บริหารสถานศึกษาบางแห่งที่ให้ความสำคัญด้านวิชาการ แต่ยังขาดการให้ความสำคัญ
ในการปลูกฝังด้านจริยธรรม จะทำให้เด็กขาดตัวอย่างที่ดีในการเรียนรู้ ควรมีการแก้ไขโดยการ
พัฒนาระบบความคิด จิตใจ โดยนำหลักศาสนามาประยุกต์ในการเรียนการสอน การให้ความ
สนับสนุนด้านงบประมาณ และควรมีการแก้ไขปรับปรุงทั้งระบบตั้งแต่สถาบันครอบครัว วัด
สถาบันการศึกษา มีการจัดทำหลักสูตร การศึกษา การอบรม บ่มนิสัย การศึกษาจะต้องดำเนินการ
ต่อเนื่องและทำตลอดเวลา โดยให้ความสำคัญกับเรื่องศาสนาและจริยธรรมเป็นลำดับแรก
2.เห็นด้วยกับการกำหนดให้เรียนกฎหมายเป็นปริญญาที่สองและการปลูกฝังเรื่อง
professionalism
3.การปลูกฝังแนวความคิดควรเริ่มต้นตั้งแต่ยังเด็กจึงจะได้ผลดี ในการเรียนและการ
ปลูกฝังจริยธรรมวิชาชีพควรมีกิจกรรมให้เรียนรู้และปฏิบัติด้วย
ผู้แทนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับการศึกษาอบรม
ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้เข้มข้นกว่าอาชีพอื่น เพราะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ทำให้คนดีเป็นหรือตาย
ได้ เช่น กรณีการฟ้องผิดตัวหรือจับผิดคน เป็นต้น
- ตัวบทกฎหมายด้านจริยธรรมวิชาชีพ ต้องมีการอธิบายอย่างชัดเจนว่าร้ายแรงหรือไม่
อย่างไร และควรมีความสอดคล้อง ชัดเจน และเป็นรูปธรรม รวมถึงมีการยกตัวอย่าง ปัญหาที่พบ
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกลไกการบังคับใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ การลงโทษที่เหมาะสมกับพฤติกรรมและ
ความล่าช้าในการดำเนินการ
มาตรฐานจริยธรรมควรนำความคิดเห็นของประชาชนคือการให้ความสำคัญกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และการคิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน มาเป็นหัวใจสำคัญและนำมาเป็นมาตรฐานจริยธรรมขององค์กร และควรมีการวางยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาในระดับชาติ
นอกจากนี้ ควรนำการตรวจสอบประวัติและความประพฤติย้อนหลังมาพิจารณาประกอบในกรณีที่มีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในราชการด้วย
ผู้แทนจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นว่า การพิจารณาจะต้องประกอบไปด้วย
คน ระบบการควบคุม และอนาคตของนักกฎหมาย
เรื่องของคน เห็นด้วยกับการปลูกฝังแนวความคิด professionalism โดยควรดำเนินการดังนี้
1) ก่อนเป็นนักกฎหมาย (ระดับอุดมศึกษา,มัธยมศึกษาตอนปลาย) จะต้องมีการปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่แรกเริ่ม แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่เลือกเรียนกฎหมายเป็นเพราะแรงจูงใจด้านค่าตอบแทนที่สูงนั้น สะท้อนให้เห็นว่าการแนะแนวในระดับชั้นมัธยมไม่ถูกต้อง
2) ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนหลักวิชาชีพเป็นภาคบังคับในชั้น
ปีที่หนึ่ง
3) เมื่อจบการศึกษาแล้ว ควรมีสถาบันกลางทำหน้าที่ในการควบคุมนักกฎหมาย
4) ในอนาคต นักกฎหมายจะต้องอยู่ในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้ จากการประชุมสมาคมนักกฎหมายระดับอาเซียน มีความเห็นว่า ควรมีการปรับปรุงดังนี้
4.1) มาตรฐานสากลของทุกประเทศต้องมี Rule of law
4.2) จะต้องมีการรองรับการควบคุมมาตรฐานของนักกฎหมายต่างประเทศด้วย
กล่าวโดยสรุปคือต้องมีการเตรียมการจะต้องกำหนดในเรื่องคน ระบบการควบคุม
มาตรฐาน การนำสู่มาตรฐานสากล และการกำหนดโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด
3.เรื่องอื่น ๆ
- เรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ มีข้อสังเกตว่า สภาทนายความไม่สามารถของบประมาณ
โดยตรงจากสำนักงบประมาณได้ เป็นประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกับอำนาจของรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงยุติธรรม
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ในการเก็บข้อมูลมี
สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ ทำอย่างไรจึงจะปลูกฝังค่านิยม หลักสูตร การสร้างคนให้เป็น professionalism ทั้งระบบ บทบาทของทุกฝ่ายที่จะควบคุมให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งจากนี้ไป จะมีการสัมมนาระดับประเทศ เป็นการรวมองค์กรวิชาชีพกฎหมายทุกองค์กร เพื่อมีมติที่เป็นรูปธรรม ให้เกิดการแก้ไขปัญหาเป็นลำดับ เพื่อกำหนดค่านิยมสูงสุดว่าคืออะไร และควรมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร มีจริยธรรมในเรื่องใดบ้างที่ยังบกพร่องและมีกลไกในการดำเนินการอย่างไร การระดมความคิดเห็นเป็นความตั้งใจที่จะให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระดับองค์กรต่าง ๆ ทุกคนที่อยู่ในองค์กรนั้นเองคือผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาขององค์กร .
_________________
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น