วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

เด่น ๆ งานวิจัยจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย


จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย
โดย  ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา  มหาคุณและคณะ
จริยธรรม คือ อุดมการณ์หรือจุดมุ่งหมายอันสูงสุดที่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายควรไปให้ถึง อันได้แก่ ความยุติธรรม การดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขของสังคม และการใช้หลักเหตุผลยิ่งกว่าการกระทำตามอำเภอใจ  งานของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจึงเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ เพราะคุณค่าของงานเป็นการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ความดีงาม และศีลธรรมของสังคม  ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจึงจำเป็นต้องมีจริยธรรมสูงกว่าบุคคลทั่วไป  มีจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว  เพื่อให้สามารถดำรงไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี เป็นที่รักและเคารพ ความเชื่อมั่น ศรัทธาและการได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน  จริยธรรมจึงเปรียบเสมือนเข็มทิศและแสงสว่างซึ่งทำหน้าที่ช่วยนำทางผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้สามารถเดินทางไป     สู่จุดมุ่งหมายของเจตนารมณ์ดังที่ตั้งใจ  และยังทำหน้าที่ในการแยกผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่เป็น มืออาชีพ   ออกจาก ผู้ที่เป็นเพียงผู้ใช้ความรู้ด้านกฎหมายในการทำมาหากินเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตัว        
ปริมาณงานของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจะมากหรือน้อยเพียงใด มองภายนอก เหมือนว่าจะมาจากคดีความหรือความขัดแย้งที่เกิดจากผู้คนในสังคม  แต่ภายในคือความไม่เท่าเทียมกัน  ความไม่ได้รับความยุติธรรม การเอารัดเอาเปรียบ อันเกิดจากความรัก โลภ โกรธ หลงของผู้คนในสังคม ที่ล้วนแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เป็น      ความป่วยทางจิตวิญญาณ  ดังนั้น บทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในยุคต่าง ๆ จึงมิใช่ทำหน้าที่เพียงรักษาความบริสุทธิ์และความยุติธรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทในการรักษาอาการป่วยของ  ผู้คนในสังคมที่ต้องการความยุติในความ ด้วย เช่นเดียวกับแพทย์ที่รักษาคนไข้  และในขณะเดียวกันก็เป็น    ผู้ที่มีหน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งจริยธรรมและศีลธรรมของสังคม
   งานวิจัยนี้ได้มีการศึกษาถึงพัฒนาการของหลักจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายของไทยและ
ต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน จากแนวคิด ทฤษฏี และอุดมการณ์ มาเป็นข้อห้าม ข้อควรกระทำและมาตรฐานวิชาชีพที่ได้รับการบัญญัติรองรับไว้เป็นกฎหมาย  และเป็นผลงานวิจัยฉบับแรกของวงการกฎหมายที่ได้มีการรวบรวมความคิดเห็นทั้งจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และแบบสอบถามความคิดเห็นจากผู้พิพากษา ตุลาการศาลปกครอง  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พนักงานอัยการ ทนายความ และประชาชน ในประเด็นเกี่ยวกับสภาพปัญหาจริยธรรมวิชาชีพ ผลกระทบ กลไกการบังคับใช้ และข้อเสนอแนะ รวมทั้งมีการสำรวจทัศนคติการให้ความสำคัญกับระดับปัญหาจริยธรรมของแต่ละกลุ่มวิชาชีพโดยแบ่งระดับความร้ายแรงมากถึงร้ายแรงน้อยไว้โดยละเอียด  จึงเป็นงานวิจัยที่มีทั้งเนื้อหาสาระเชิงแนวความคิด ทฤษฎี และการวิเคราะห์ข้อมูลความคิดเห็นที่ได้จากแบบสอบถาม
                ผลสรุปที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบพัฒนาการทางกฎหมาย พบว่า แม้ว่าปรัชญาตะวันออกและตะวันตกจะมีที่มาของแนวความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับหลักจริยธรรม ประวัติศาสตร์ และความเป็นมา สภาพเศรษฐกิจและสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ระบบการเมืองการปกครอง  ประสบการณ์ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ และระบบกฎหมายที่แตกต่างกันก็ตาม แต่หลักจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายของตะวันออกและตะวันตกนั้น ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือความยุติธรรมอันนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคม
                นอกจากนี้  ยังเห็นตรงกันว่าหลักจริยธรรมวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การประพฤติ ปฏิบัติของ  ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายได้รับการยอมรับจากสาธารณชน และมีความสำคัญต่อการดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งรัฐ 
หลักจริยธรรมคือความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย เป็นหัวใจสำคัญอันทำให้วิชาชีพมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากผู้ประกอบอาชีพทั่วไป  รวมทั้งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายสามารถเดินทางไปถึงจุดมุ่งหมายอันเป็นความฝันอันสูงสุด และประสบความสำเร็จที่จะได้เห็นภาพความงดงามของบ้านเมืองที่มีสงบสุข และมีสันติภาพ ความมั่นคงแห่งรัฐ สมดั่งที่ได้ตั้งใจไว้ไปพร้อมกันกับประชาชนในรัฐ ที่รักและศรัทธา  และเห็นคุณค่าของงานที่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายได้ร่วมกันสร้างขึ้น
                แบบสอบถามความคิดเห็นที่งานวิจัยฉบับนี้ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายและประชาชน มีจุดเด่นสำคัญคือการแสดงให้เห็นถึงความตระหนักของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายกับความคาดหวังของประชาชนและด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างเท่าเทียมกันโดยมีจุดประสงค์ร่วมกันนี้ช่วยให้ค้นพบข้อสรุปและข้อเสนอแนะความคิดเห็นที่ร่วมกัน ทันสมัย ตรงกับความเป็นจริงและเป็นรูปธรรมมากที่สุด   ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งและช่องว่างทางความคิดระหว่างกัน  
 ผลสรุปของการวิจัยคือ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในประเทศไทย ก็ไม่อาจหนีพ้นจากความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพกฎหมาย โดยเฉพาะค่านิยมทางสังคมที่มุ่งเน้นวัตถุนิยม และบริโภคนิยมเป็นหลัก ทำให้ความประพฤติอันเป็นพื้นฐาน (norm)  ได้หันเหออกจากหลักกฎหมาย ศีลธรรม และจริยธรรม ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้คือแนวทางสำคัญของจริยธรรมวิชาชีพกฎหมาย และจากการเก็บข้อมูลได้ชี้เห็นถึงความห่วงใยของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายว่า ปัจจุบันมีปัญหาการขาดความรู้ความสามารถ และความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน มีปัญหาเรื่องการทุจริต การวิ่งเต้นคดีเพื่อหวังผลให้เกิดการพลิกคดีมากขึ้น การให้ความสำคัญกับลัทธิบริโภคนิยม วัตถุนิยม อำนาจนิยม ส่งผลให้มีการฝ่าฝืนและละเมิดจริยธรรม ในระดับสูงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน และความบกพร่องในด้านจริยธรรมส่วนตน ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อจริยธรรมสาธารณะ ไปด้วย 
จากผลการรวบรวมและสำรวจทัศนคติของประชาชน ทำให้เห็นว่าประชาชนยังคงเชื่อมั่นในวิชาชีพกฎหมาย  และมีแนวโน้มที่จะมีความคาดหวังต่อผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมากยิ่งขึ้น  อันจะนำไปสู่การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิชาชีพกฎหมายทั้งในด้านการพัฒนาระบบกฎหมาย  การปรับปรุงการบริหารงานบุคคลขององค์กรวิชาชีพ  และการปลูกฝังอุดมการณ์  ค่านิยมที่ถูกต้อง ปลุกจิตสำนึก การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนและการศึกษาในสถาบันการศึกษากฎหมาย การปรับปรุงระบบการตรวจสอบขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ให้เกิดการยกระดับจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจและสังคม  เพื่อให้วิชาชีพกฎหมายสามารถดำรงไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี  ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน และความมั่นคงของรัฐในท้ายที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น