บทคัดย่อภาษาไทย
ชื่อโครงการ : จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย
ชื่อผู้วิจัย : ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา
มหาคุณ และคณะ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้
มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของหลักจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายเปรียบเทียบของไทยและต่างประเทศ
ศึกษาปัญหาทางจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายและผลกระทบของปัญหาที่มีต่อสังคมไทยในปัจจุบัน
กลไกที่ควบคุมความประพฤติในวิชาชีพกฎหมาย
เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย วิธีวิจัยใช้วิธีวิจัยผสมผสานกันระหว่างวิจัยจากเอกสาร
การสัมภาษณ์ และเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม
ผลจากการศึกษาพบว่า พัฒนาการของหลักจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายของไทยและต่างประเทศมีความแตกต่างกันในเรื่องที่มาของแนวความคิดและทฤษฎี เพราะเป็นผลมาจากที่มาของประวัติศาสตร์
การเมืองการปกครอง และสังคมที่แตกต่างกัน แต่จุดเชื่อมโยงที่นักปรัชญาชาวตะวันออกและตะวันตกเห็นตรงกัน
คือแนวความคิดเรื่องความยุติธรรม
การแบ่งแยกระหว่างความดีกับความชั่ว
จริยธรรมส่วนตัวกับจริยธรรมสาธารณะ
คุณค่าของงานและภาระหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายคือการดำรงไว้ซึ่งความสงบสุข
สันติภาพของสังคม และความยุติธรรมอันทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายจำเป็นต้องมีจริยธรรมวิชาชีพสูงกว่าผู้ประกอบอาชีพทั่วไป
สำหรับสภาพปัญหาของจริยธรรมวิชาชีพที่ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพมีความเห็นตรงกันมากที่สุด
คือ มีสาเหตุมาจากการขาดการปลูกฝัง ค่านิยม ความรู้ในเรื่องจริยธรรมวิชาชีพอย่างลึกซึ้ง และปัญหาอันเนื่องมาจากการไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัฒน์
ค่านิยมและวัฒนธรรมของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับวัตถุ
เงิน อำนาจ มากกว่าการรักษาคุณค่าจริยธรรมในวิชาชีพ ซึ่งมีผลกระทบมากที่สุดคือ คนไม่เชื่อในระบบความยุติธรรมและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย
สังคมแตกแยก เกิดความไม่ เท่าเทียมกันในสังคม
คนไม่กลัวกฎหมาย ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมและเห็นความสำคัญของจริยธรรมน้อยลง มีค่านิยมในทางวัตถุนิยม
อำนาจนิยม บริโภคนิยม อันเป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่น
ๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ปัญหาทุจริต ในด้านกลไกควบคุมความประพฤติที่กำหนดไว้
พบว่ามีความเหมาะสม แต่มีปัญหาเรื่องความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย จากผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนชี้เห็นว่า
ประชาชนยังคงเชื่อมั่นในวิชาชีพกฎหมาย
และมีแนวโน้มที่จะมีความคาดหวังมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวิชาชีพกฎหมาย
ในงานวิจัยฉบับนี้ได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา
ทั้งในด้านการพัฒนากฎหมาย การบริหารงานบุคคลขององค์กรวิชาชีพ การปลูกฝังอุดมการณ์และค่านิยมที่ถูกต้อง การปรับปรุงด้านการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอน การปรับปรุงระบบการตรวจสอบขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นเพื่อให้เกิดการยกระดับจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจและสังคม และสร้างความเข้มแข็งให้กับมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายได้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักจริยธรรมในวิชาชีพว่าเป็นรากฐานและหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากสาธารณชนว่าเป็นผู้ประกอบอาชีพที่มีเกียรติยศและศักดิ์ศรีในฐานะที่เป็นผู้อุทิศตนและเสียสละในกิจการงานสำคัญอันมีคุณค่ายิ่ง ในการเป็นผู้ที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการดำรงรักษาไว้ซึ่งความรักและความศรัทธาในความดีงาม ศีลธรรม ความยุติธรรม
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบสุขของสังคม และสันติภาพให้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
และยังคงอยู่คู่สังคมตลอดไป ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
คำค้น :
จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย , จริยธรรม , วิชาชีพ , กฎหมาย
แหล่งข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น